ครม.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล้านบาท คาดรฟม.เปิดประมูลและลงนามสัญญากับเอกชนได้ภายในเดือนต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี กรอบวงเงินลงทุน 142,789 ล้านบาท โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดประมูลและลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะประมูลให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ และเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนพ.ย.2563-มี.ค.2569 หรือใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ดังกล่าว เป็นโครงการร่วมทุนแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะรับภาระในการลงทุน 110,673 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน 14,666 ล้านบาท และสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธา ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร (กม.) ไม่เกิน 96,012 ล้านบาท ซึ่งเอกชนต้องจ่ายเงินลงทุนค่างานโยธาไปก่อน จากนั้นภาครัฐจะทยอยจ่ายเงินคืนเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ส่วนเอกชนจะต้องรับภาระในการจัดหาเงินลงทุน 32,116 ล้านบาท สำหรับลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเป็นเงิน 31,000 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาฯ 1,116 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน เอกชนมีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษา รถไฟฟ้าสายสีส้มตั้งแต่ช่วงขุนนนท์-มีนบุรี ซึ่งมีระยะเวลาในการเดินรถ 30 ปี นับตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี เปิดให้บริการในปี 2566 โดยภาครัฐจะให้เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร และรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมทั้งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงานทั้งหมดด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) จะมีผลตอบแทนด้านการเงินจะอยู่ที่ 0% และผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 19.45% และนับตั้งแต่จะเริ่มต้นโครงการตั้งแต่บางขุนนนท์จนถึงศูนย์วัฒนธรรมฯ จะมีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่นๆ 7 จุด ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช สถานีศิริราช สถานีราชเทวี สถานีราชปรารภ และสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ โดยจะเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
น.ส.ไตรศุลี ยังกล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ประกอบด้วย รถ 4 ล้อ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจะอยู่ที่ 10 บาท และค่าธรรมเนียมตามระยะทางใช้จริงจะอยู่ที่ 1.50 บาท/กม. ส่วนรถ 6 ล้อ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจะอยู่ที่ 16 บาท และค่าธรรมเนียมตามระยะทางใช้จริงจะอยู่ที่ 2.40 บาท/กม.
และรถ 6 ล้อขึ้นไป ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจะอยู่ที่ 23 บาท และค่าธรรมเนียมตามระยะทางใช้จริงจะอยู่ที่ 3.45 บาท/กม. โดยอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่อธิบดีกรมทางหลวงประกาศกำหนด ขณะที่ปัจจุบันมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2564
อ่านประกอบ : ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/