ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยผลเปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ พบไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมในการผลิต จี้ สมอ.เร่งจัดทำบังคับใช้ หวังเป็นคู่มือผู้บริโภคเลือกซื้อ พร้อมแนะหยุดปัญหา ทุกภาคส่วนต้องจับมือแก้ร่วมกัน ลดฝุ่น PM2.5
วันที่ 23 ม.ค.2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว เรื่อง ฉลาดซื้อกับผลทดสอบเครื่องฟอกอากาศและข้อเสนอเพื่อสร้างมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทดสอบครั้งนี้เป็นการนำเครื่องฟอกอากาศที่มีในท้องตลาดมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่นละออง โดยใช้วิธีและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อเครื่องฟอกอากาศ โดยเครื่องฟอกอากาศที่ทำการสุ่มซื้อตัวอย่างจากท้องตลาด และทางออนไลน์จำนวน 10 ยี่ห้อ ราคาซื้อขายตามท้องตลาด ณ มิ.ย. 2562 และได้ทำการทดสอบเครื่องฟอกอากาศโดยการปรับปรุงตามมาตรฐาน Standards of The Japan Electrical Manufacturers’ Association (JEM Standards), JEM1467 - Air Cleaner for Household Use (Air cleaners of household and similar use)
ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศครัวเรือน
จากผลการทดสอบสามารถแบ่งประเภทของเครื่องฟอกอากาศ โดยพิจารณาจาก การเปรียบเทียบ พื้นที่ห้องที่เหมาะสม กับ พื้นที่ห้องที่แนะนำตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน สรุปได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ เครื่องฟอกอากาศเหมาะกับกลุ่มที่ขนาดพื้นที่ห้องจากการทดสอบ มีขนาดเล็กมาก (2.32 ตารางเมตร) ซึ่งสามารถแปลผลการทดลองได้ว่า ไม่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้ ได้แก่ ยี่ห้อ Clair
กลุ่มที่ 2 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มี ขนาด 13.82 ตารางเมตร แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Blueair
กลุ่มที่ 3 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Hitachi Fanslink Air D, Sharp และ Bwell
กลุ่มที่ 4 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ได้กับห้องที่มีขนาดมากกว่า 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Hatari และ Mitsuta
กลุ่มที่ 5 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Philips และ Mi
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การบอกขนาดห้องที่เหมาะสมของเครื่องฟอกอากาศแต่ละยี่ห้อ จะมีความแตกต่างกัน บางยี่ห้อ บอกขนาดห้องที่เหมาะสม ในช่วง Range ที่ค่อนข้างกว้าง เช่น กรณีของ Philips รุ่น AC 1215/20 ขนาดห้องที่แนะนำ อยู่ในช่วง 21 - 63 ตารางเมตร ยี่ห้อ Mi รุ่น ( Air Purifier 2s) ขนาดห้องที่แนะนำ คือ 21 - 37 ตารางเมตร
อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถทราบ ค่า CADR (อัตรามาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นโดย Association of Home Appliance Manufacturers (AHAM) ที่เป็นหน่วยงานอิสระ อัตรานี้วัดค่าประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศ โดยคำนึงถึงขนาดห้องและปริมาตรของอากาศบริสุทธิ์ที่ถูกผลิตออกมาต่อนาที) ของ แต่ละผลิตภัณฑ์ เราสามารถที่จะคำนวณประสิทธิภาพ ของเครื่องฟอกอากาศได้ซึ่ งค่า CDAR ที่ได้จากการทดสอบของเรา เป็นค่าที่บอกถึงความสามารถในการกำจัดฝุ่น ได้ 99% ในระยะเวลา 90 นาที ในกรณีที่ห้องมีขนาดใหญ่เวลาที่ใช้ในการกำจัดฝุ่นก็จะมากขึ้นหรืออาจไม่สามารถกำจัดฝุ่นได้
“การทดสอบนี้เป็นเพียงการทดสอบในประเด็น (ประสิทธิภาพ) Performance ของเครื่องในการกำจัดฝุ่นเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นในเรื่องความทนทาน (Durability) ความสามารถในการกำจัดฝุ่น เมื่อระยะเวลาในการใช้งานนานขึ้นที่เป็นปัจจัยสำคัญอีกประเด็นหนึ่งในการพิจารณา ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในสินค้าประเภทเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน จึงมีความสำคัญเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถ ใช้ข้อมูลการทดสอบตามมาตรฐานในการตัดสินใจ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละอองได้อย่างมั่นใจ”
ดร.ไพบูลย์ ระบุถึงข้อเสนอด้วยว่าเนื่องจากคุณภาพอากาศที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งในเมืองและชนบท ต่างประสบปัญหา ฝุ่นและควัน ขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งมักจะเกิดความรุนแรงตามฤดูกาลของปี และมีหลายปัจจัย ที่เป็นสาเหตุของคุณภาพอากาศที่เลวร้าย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ แต่การใช้เครื่องฟอกอากาศครัวเรือน เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคส่วนอื่นๆ ควรร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นพิษ และหมอกควัน
ทั้งนี้ การเลือกซื้อเครื่องกรองอากาศในครัวเรือน ปัจจุบัน ไม่ได้มีมาตรฐานอุตสาหกรรมในการผลิต ส่งผลให้ ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ ที่มีประสิทธิภาพ และคุณภาพได้ ดังนั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งจัดทำมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า ที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ในการป้องกัน อันตรายจากการสูดดม ฝุ่นและควันมลพิษที่แพร่กระจายเข้ามาสู่ตัวบ้าน และสร้างผลกระทบทางสุขภาพกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารก เด็กเล็ก และผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจ
ด้านดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และ เครือข่ายอากาศสะอาด กล่าวว่า ในตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในอาคาร จึงได้รับฝุ่น PM2.5 จากอากาศในอาคารมากกว่าอากาศภายนอก ซึ่งแนวทางการปกป้องสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญที่สุด คือ การจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยในอาคารบ้านเรือนที่เป็น "ห้องปลอดฝุ่น" ดังนั้น เครื่องฟอกอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรเรียนรู้จากงานชิ้นนี้ของนิตยสารฉลาดซื้อ นอกจากได้รู้ว่าเครื่องฟอกอากาศที่ถูกทดสอบแต่ละรุ่นเป็นอย่างไรแล้ว ผู้บริโภคควรได้เรียนรู้วิธีการที่ใช้ทดสอบเพื่อจะไปประยุกต์กับการทดสอบอุปกรณ์ฟอกอากาศที่เราใช้กันอยู่ในบ้านทั้งที่ซื้อมาและที่ทำกันขึ้นเอง และที่สำคัญงานชิ้นนี้เป็นการย้ำให้ทุกคนตระหนักว่าสิทธิของประชาชนที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง คือ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ (Right to Know) ที่เป็นข้อเท็จจริง มีการอ้างอิงหลักการและหลักฐานทางวิชาการ เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะตัดสินใจเพื่อปกป้องดูแลชีวิตและสุขภาพของตัวเองอย่างเท่าเทียมกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/