‘ฐากร’ เผยอาจมีทีวีดิจิทัล 2-3 ช่อง เลย์ออฟพนักงานอีก หลังประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการฯ 3-4 ช่อง ร่อนหนังสือขอให้ กสทช. ช่วยเหลือค่า Must Carry รื้อเกณฑ์จ่ายค่าธรรมเนียมส่วนแบ่ง โดยคิดจาก ‘กำไร’ ไม่ใช่คิดจาก ‘รายได้’
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 3-4 ช่อง ยื่นหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมใน 2 เรื่อง เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจกำลังจะเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว
สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ขอให้ กสทช. ช่วยเหลือค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้เผยแพร่ภาพเป็นการทั่วไป (Must Carry) เพิ่มเติม จากเดิมที่กสทช.ได้ช่วยเหลือค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะช่วยเหลือได้หรือไม่ และหากช่วยเหลือแล้วจะกลายเป็นว่า กสทช.เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมากเกินไปหรือไม่
“เขามองว่า กสทช.น่าจะช่วยจ่ายเงินค่า Must Carry ให้กับทีวีดิจิทัลด้วย แต่ตรงนี้เราก็มองว่า ถ้าเราจะไปจ่ายให้อีก จะเป็นการช่วยผู้ประกอบการทีวีมากเกินไปหรือไม่ เพราะปีหนึ่งค่า Must Carry ของทุกช่องรวมกันจะอยู่ที่ 600 กว่าล้านบาท หากเราออกเงินให้ จะกลายเป็นว่ากสทช.เอื้อประโยชน์มากไปหรือเปล่า ซึ่งตัดสินใจยาก แต่เขาก็ทำหนังสือเข้ามา และอยากให้เราช่วยตรงนี้ด้วย แต่การช่วยเหลือตรงนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา” นายฐากรกล่าว
และ2.ขอให้ กสทช.ปรับเปลี่ยนวิธีจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งปัจจุบันกสทช.จัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% จากรายได้ แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขอให้เปลี่ยนเป็นจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% จากกำไรได้หรือไม่ คือ ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะผู้ประกอบการฯ ที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่ขาดทุนไม่ต้องเก็บ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน
“เขาทำหนังสือเข้ามาถึงผม 2 เรื่อง ทำเข้ามา 3-4 ช่องแล้ว เขาบอกว่า ถ้าจะให้เขาอยู่รอดต้องทำแบบนี้ และตอนนี้เขาบอกว่าไปไม่ไหวแล้ว” นายฐากรกล่าว
นายฐากร ยังกล่าวถึงกรณีที่บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล MONO29 เลิกจ้างพนักงานกว่า 200 คนในช่วงที่ผ่านมา ว่า ได้สอบถามไปทางช่องโมโนแล้ว และได้คำตอบว่าสาเหตุที่ต้องเลิกจ้างพนักงาน เพราะรายได้ลดลงต่อเนื่อง และหากยังต้องรับภาระต้นทุนพนักงานที่มีมากกว่า 1,000 คน เขาบอกว่าธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ และเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ จึงได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการเอาท์ซอร์ซให้คนกลุ่มอื่นมาทำงานแทน
“อย่างช่องโมโน ผมโทรไปคุยกับเขา เขาบอกว่า ที่ปรับลดคน ไม่ใช่ว่าช่องของเขาขาดทุนเยอะขนาดนั้น แต่ถ้าเขายังมีพนักงาน 1,000 กว่าคน และรายได้เขาน้อยลงเรื่อยๆ เขาก็อยู่ไม่ได้ เขาจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเอาท์ซอร์ซแทนให้คนกลุ่มอื่นเข้ามาทำแทน เพื่อทำให้ธุรกิจที่ทำเดินต่อไปได้ ถ้าเขาจ้างพนักงานอยู่อย่างนี้ เขาบอกว่าอยู่ไม่ได้ ต้นทุนมันรับไม่ได้” นายฐากรกล่าว พร้อมระบุว่า ในเร็วๆนี้น่าจะเกิดสถานการณ์ทีวีดิจิทัล 2-3 ช่อง เลิกจ้างพนักงานอีก
“น่าจะยังมีสถานการณ์เลย์ออฟพนักงานทีวีดิจิทัลแบบนี้อีก และน่าจะมีอีกอย่างน้อย 2-3 ช่อง ที่จะเกิดขึ้นอย่างนี้อีกในเร็วๆ เพราะตอนนี้มีช่องที่ประสานมายังกสทช.เพื่อขอคืนใบอนุญาตมี 2-3 ช่องแล้ว เมื่ออยากคืนใบอนุญาตให้เรา แสดงว่าเขาอยู่ไม่ไหวแล้ว และถ้าหากเขายังไม่คืนใบอนุญาต ก็น่าจะเกิดสถานการณ์เลย์ออฟพนักงาน” นายฐากรระบุ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล และขอให้กสทช.ชดเชยเช่นเดียวกับการคืนใบอนุญาตตามม.44 ครั้งที่แล้ว นั้น นายฐากร ย้ำว่า การคืนช่องสามารถทำได้ แต่จะไม่ได้เงินชดเชย เพราะตอนนี้หมดเวลาแล้ว
“จริงๆแล้วในมาตรา 44 ยังให้เลขาธิการกสทช.ใช้อำนาจได้อยู่ แต่ผมไม่กล้าตัดสินใจว่าทำได้ เพราะถ้าคืนช่องได้ และไปคืนเงินให้เขาอีก ก็เหมือนกับว่าเสียค่าโง่หรือเปล่า เป็นการเอื้อประโยชน์หรือเปล่า และแม้ว่าหลายคนบอกว่า ทำได้ แต่ฟังกองเชียร์แล้ว มันอาจจะพาผมติดคุก และต้องไป ป.ป.ช.ไม่จบ ไม่สิ้น เพราะเขาจะมองว่าจ่ายเงินคืนให้เขาไป 500 ล้าน ผมไปรับคอมมิชชั่นหรือเปล่า ทั้งๆที่คืนแล้วไม่ต้องจ่ายเงิน เขาก็จะทำกันอยู่แล้ว” นายฐากรกล่าว
นายฐากร ยอมรับว่า สถานการณ์ทีวีดิจิทัลขณะนี้ถือว่ายังน่าเป็นห่วง เพราะรายได้โฆษณาที่เดิมอยู่ที่ 70% ของงบโฆษณาทั้งระบบ 1 แสนล้านบาท ปีที่แล้วลดลงมาเหลือ 60% และปีนี้สัดส่วนรายได้น่าจะต่ำกว่า 50% เพราะรายได้ค่าโฆษณาย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มฟอร์มอื่นอย่าง OTT (Over-The-Top) เช่น Facebook, YouTube และ Netflix เป็นต้น อีกทั้งเงินค่าโฆษณาและบริการต่างๆ ก็โอนไปยังต่างประเทศทั้งหมด
“ผมเสนอว่า ควรเข้าให้ไปตรวจสอบที่ Gateway ว่า หาก OTT รายใด มีการนำเข้าข้อมูลมาเยอะ เราจะถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจ และเมื่อมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย คุณต้องจ่ายเงินค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ เราไม่ได้บอกว่าจะไปเก็บภาษีเขานะ แต่ที่ผ่านมาก็มีการไปสื่อสารผิดๆว่า กสทช.จะเก็บภาษีค่าใช้ Facebook จากประชาชน กสทช. ก็โดนด่า ซึ่งความจริงไม่ใช่ เราแค่ต้องการให้เขาจ่ายค่าใช้โครงข่ายให้กับเราเท่านั้น” นายฐากรระบุ
อ่านประกอบ : 'โมโน 29' เลิกจ้างเเล้ว 86 คน จ่ายรวม 15 ล. 'กสร.' สั่งติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/