ศาลแรงงานนัดไกล่เกลี่ย พิจารณา สืบพยาน คดี ‘ผศ.ปวิตร’ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ‘หอศิลปกรุงเทพฯ’ หลังถูกเลิกจ้าง ผ่านมา 51 วัน ยังไม่ได้เงินชดเชย -รายงานผลประเมินงาน
กรณีคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือหอศิลปกรุงเทพฯ มีคำสั่งให้ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2562 เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินการปฏิบัติงาน ต่อมา ผศ.ปวิตร ได้ยื่นเรื่องขอให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ เปิดเผยรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงาน แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือและชี้แจง ทำให้ภาคประชาชน นำโดยนายชยันต์ ไชยพร ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมูลนิธิฯ ผ่านนายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ เมื่อปลาย ต.ค. 2562 ซึ่งเวลานั้นมูลนิธิฯ ยืนยันจะเปิดเผยผลการปฏิบัติงานกับผศ.ปวิตร เท่านั้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 20 ม.ค. 2563 ผศ.ปวิตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีลายเซ็นของผู้ประเมินครบทั้ง 7 คน และยังไม่ได้รับเงินชดเชยเลิกจ้างตามกฎหมาย หากแต่กรรมการมูลนิธิฯ ทั้งสามคน ได้แก่ นายปัญญา วิจินธนสาร นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ และนายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ยืนยันจะให้เงินช่วยเหลือพิเศษและให้เซ็นข้อตกลงไม่เปิดเผยความลับ ซึ่งเป็นจะกลายเป็นข้อห้ามไม่ได้ดำเนินทางกฎหมายและเปิดเผยรายละเอียดการทำงานของหอศิลปกรุงเทพฯ
ด้วยเหตุนี้จึงฟ้องร้องต่อศาลแรงงานกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ร 5228/2562 ซึ่งศาลนัดไกล่เกลี่ย พิจารณา และสืบพยาน ในวันนี้ ระหว่างตนเอง (โจทก์) กับมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (จำเลย) ในฐานความผิด เรียกเงินค่าชดเชย เงินเพิ่ม เลิกจ้างไม่เป็นธรรม เรียกค่าเสียหาย
ทั้งนี้ คำร้องระบุว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2561 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างให้โจทก์ทำงานให้ในตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2562 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 30 ก.ย. 2562 ซึ่งจำเลยให้เหตุผลในการเลิกจ้างว่า “ผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ”
หลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานกับจำเลยมาเป็นระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากการถูกจำเลยเลิกจ้าง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระค่าชดเชยดังกล่าวนี้แก่โจทก์ตามกฎหมายภายใน 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง แต่จนถึงขณะนี้จำเลยก็ยังไม่ได้รับชำระเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระค่าชดเชยตามกฎหมาย คือ วันที่ 3 ต.ค. 2562 ถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลา 51 วัน (ฟ้องวันที่ 22 พ.ย. 2562) และจำเลยต้องชำระเงินเพิ่มจากการที่จำเลยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนเงินค่าชดเชยที่จำเลยค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จโดยคำนวณถึงวันฟ้อง
นอกจากนี้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุผลในการเลิกจ้างว่าผลการประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการดังกล่าว จำเลยไม่มีเอกสารรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์มาแสดงต่อโจทก์ เพื่อให้โจทก์สามารถตรวจสอบถึงรายละเอียดและใช้สิทธิชี้แจงหรือโต้แย้งได้แต่อย่างใด อันเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับโจทก์เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าว ทั้งที่โจทก์ไม่มีความผิดแต่อย่างใด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายจากการที่ถูกจำเลยเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และให้จำเลยส่งมอบเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานของโจทก์แก่โจทกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงไม่เปิดเผยความลับที่ ผศ.ปวิตร อ้างถึงว่า กรรมการมูลนิธิฯ ขอให้เซ็นยินยอมนั้น เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผศ.ปวิตร กับมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมเเห่งกรุงเทพมหานคร โดยนายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กรรมการเเละเลขานุการมูลนิธิฯ มีเนื้อหาโดยสรุปให้ผศ.ปวิตร รักษาข้อมูลอันเป็นความลับของมูลนิธิฯ โดยข้อมูลที่เป็นความลับในรูปของเอกสาร โปรเเกรมคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกลงในสื่อต่าง ๆ ข้อมูลเกี่ยวกับคดี เเละข้อพิพาท ทั้งปวงของมูลนิธิฯ ซึ่งผศ.ปวิตร รับทราบข้อมูล หรือเกี่ยวพันกับคดี หรือข้อพิพาทดังกล่าว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งต้องรักษาข้อมูลอย่างเคร่งครัด ยกเว้นได้รับอนุญาต กรณีฝ่าฝืนเเละก่อให้เกิดความเสียหายเเก่มูลนิธิฯ เเละ/หรือบุคคลใด ๆ ตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายให้เเก่มูลนิธิฯ เเละ/หรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายสำหรับความเสียหายเช่นว่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผศ.ปวิตร ยังไม่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงไม่เปิดเผยความลับ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:อดีตผอ.หอศิลป์ เผยกก.มูลนิธิฯ เตรียมมอบผลประเมินงาน ปมเด้งพ้นตำแหน่ง 24 ต.ค. 62
‘ปวิตร มหาสารินันทน์’ เล่าหลังฉากถูกยื่นข้อเสนอแลกลาออก ผอ.หอศิลป
กก.มูลนิธิฯ ยันเปิดผลประเมินปฏิบัติงาน เด้ง ‘ผศ.ปวิตร’ อดีตผอ.หอศิลป์
ผอ.หอศิลป์ฯ ร้องสื่อ เรียกร้องขอความเป็นธรรมถูกไล่ออก
เครือข่ายศิลปินตั้งคำถาม ถึงผู้ว่าฯ กทม. จริงหรือไม่ ยึดหอศิลป์ฯ ไปบริหารเอง
ไม่ใช่ไม่ให้! ผู้ว่าฯ อัศวิน แจงเงินอุดหนุนหอศิลป์ฯ พยายามถึง 3 ครั้ง
ยุติแล้ว! ดึง หอศิลป์ฯ มาบริหารเอง ‘พล.ต.อ.อัศวิน’ เผยนายกฯ โทรหา “ให้ตามใจ ปชช.”
ก่อนดราม่า!ส่องงบ 2 ปีล่าสุด กทม. อุดหนุนหอศิลปฯ 85 ล.ใช้ทำอะไรบ้าง?
'พล.ต.อ.อัศวิน' เผย กทม.พร้อมถอย! ไม่ยุ่งเกี่ยวพัฒนาหอศิลป์ฯ หาก ปชช.ไม่เห็นด้วย
‘พล.ต.อ.อัศวิน’ ยอมรับกรุงเทพฯ เตรียมดึงหอศิลป์ไปดูแล -ขู่ไม่ให้ สภา กทม. อาจระงับงบฯ อุดหนุน