รองเลขาธิการ สทนช.แจงปม ‘ที-วอเตอร์’ ขอใช้น้ำบางปะกง ยังไม่มีอัตราเก็บค่าน้ำ เหตุรอกม.ลูก ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ กำหนด 2 ปี ระหว่างนี้อาศัยอำนาจตามกฎหมายปกครอง-ท้องถิ่น
กรณีบริษัท ที-วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และแจ้งให้เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทราบ เพื่อขออนุญาตใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงผลิตน้ำประปา ในฤดูน้ำหลาก ลงนามโดยนายเกริกไกร อนันตชัย กรรมการผู้จัดการ โดยในหนังสือไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายค่าน้ำต้นทุนนั้น เบื้องต้นนายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9 ระบุถึงขั้นตอนการขออนุญาตเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นเลขาธิการ ซึ่งตามขั้นตอนการขออนุญาตนั้นจะต้องขอความเห็นจากคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ตั้งแต่คณะกรรมการลุ่มน้ำ เป็นลำดับไป
(อ่านประกอบ: 'ที-วอเตอร์' ขอผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา สูบน้ำบางปะกง ปีละ 150 ล้าน ลบ.ม. ผลิตประปา เริ่ม มิ.ย. 63 -ชลประทานที่ 9 เเจง 'ที-วอเตอร์' ขอใช้น้ำบางปะกงผลิตประปา กรมเจ้าท่ารับผิดชอบ)
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ถึงประเด็นการขออนุญาตใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงของบริษัท ที วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด ต้องจ่ายค่าน้ำต้นทุนหรือไม่ ว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ม.ค. 2562 เป็นต้นมานั้น ระบุถึงรายละเอียดการเก็บค่าน้ำนั้น ได้กำหนดระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายลูก 2 ปี เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้จึงไม่มีกำหนดอัตราการเก็บค่าน้ำทั้งสิ้น จนกว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์กับภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด แล้วออกเป็นกฎเกณฑ์ออกมา
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โดยหลักการน้ำในเชิงธุรกิจต้องจ่ายค่าน้ำ แต่มีหลักเกณฑ์อัตราการจัดเก็บเท่าไหร่นั้น ต้องรอให้กฎหมายลูกเสร็จสิ้นก่อน
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า กรณีของบริษัทฯ ที่สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถ้าสูบเพื่อจำหน่าย ตามหลักการถือเป็นธุรกิจ ส่วนจะได้รับการยกเว้นสนับสนุนนโยบายภาครัฐเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ค่าใช้จ่ายเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย ยกเว้นน้ำเพื่อเกษตรกรรมและยังชีพที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
“ถ้าบริษัทฯ แจ้งสูบน้ำตั้งแต่มิ.ย. 2563 ซึ่งก่อนที่กฎหมายลูกจะแล้วเสร็จ ต้องไปอาศัยกลไกกฎหมายฉบับอื่นที่มีอยู่ เช่น กฎหมายทางการปกครอง กฎหมายท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังไม่เข้า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งคณะกรรมการลุ่มน้ำวันนี้อาจมีความเห็นในเชิงว่า กรณีสูบน้ำอาจมีหรือไม่มีผลกระทบต่อลุ่มน้ำเพื่อนำไปประกอบได้”
นายสำเริง ย้ำว่า เวลานี้ สทนช. ยังไม่มีอำนาจอนุมัติให้บริษัทฯ สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ดังนั้น จึงกลับไปอาศัยกลไกเดิม ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย หรือท้องถิ่น ในเรื่องการก่อสร้างสถานีน้ำมากกว่า แต่เรื่องค่าน้ำยังไม่มีผลบังคับใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 บัญญัติไว้ในหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ว่า การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น จัดอยู่ในการใช้น้ำประเภทสอง
(ประเภทหนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำาสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำใน ปริมาณเล็กน้อย/ประเภทสาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง)
โดยลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภทตาม (1) (2) และ (3) ให้เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช) ซึ่งการออกกฎกระทรวงตามวรรคสอง จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน
ทั้งนี้ การใช้น้ำประเภทที่สองต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการลุ่มน้ำที่ทรัพยากรน้ำาสาธารณะนั้นตั้งอยู่ และในการพิจารณาออกใบอนุญาตการใช้น้ำาประเภทที่สองและประเภทที่สามให้แก่ ผู้ขอรับใบอนุญาต ให้คำนึงถึงความสมดุลของน้ำาในทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมทั้งลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมความสมดุลของลุ่มน้ำ
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอำนาจออก กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทาน ตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล และให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเรียกเก็บค่าใช้น้ำดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 49
(อ่านประกอบ: พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561)
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ที - วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 17 กรกฎาคม 2561 ทุน 10,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 99/559 ซอยแจ้งวัฒนะ 12 แยก 4-7-4-1-2 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ จำหน่ายน้ำประปาเพื่ออุปโภค บริโภค ปรากฎชื่อ นายสมัย อนุวัตรเกษม นายนิธิวัชร์ ธรรมพีรสิงห์ นายเกริกไกร อนันตชัย นายณัฐวัฒน์ แสงทอง บริษัท ที - วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด ขาดทุนสุทธิ 1,339,342.73 บาท
ขณะที่ บริษัท ที-วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 27 มิถุนายน 2561 ทุน 10,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 99/559 ซอยเเจ้งวัฒนะ 12 เเยก 4-7-4-1-2 ถนนเเจ้งวัฒนะ เเขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค ปรากฎชื่อ กรรมการ นายสมัย อนุวัตรเกษม นายนิธิวัชร์ ธรรมพีรสิงห์ นายณัฐวัฒน์ เเสงทอง ขาดทุนสุทธิ 31,399.90 บาท
โดยนายสมัย อนุวัตรเกษม เคยเป็นอดีตรองผู้ว่าการ (ผลิตเเละส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) เเละรักษาการในตำเเหน่งผู้ว่าการ กปน.
ภาพประกอบ:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/830889
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/