สรุปสถานการณ์คนไทยมีหนี้ครัวเรือน 13 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 5.7 แสนบาท /คน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุปโภคบริโภค สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต พบหนี้เสียส่วนใหญ่นำไปใช้ท่องเที่ยว
นายชนินทร์ เพชรไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมของการก่อหนี้ ในงานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เงิน เงิน เงิน : การจัดการการเงินและการลงทุนแบบชาวบ้าน ณ ห้องประชุมน้ำทอง แกรนด์ โรงแรมน้ำทอง จ.น่าน ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
นายชนินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ปัจจุบันของคนไทย พบไทยมีหนี้ครัวเรือนไทย 13.1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียมการมีหนี้มากของแต่ละคน จะเห็นว่า เมื่อปี 2546-2550 คนไทยทำมาหาได้ 100 บาท เป็นหนี้ 45 บาท ขณะที่ปี 2551-2556 ทำมาหาได้ 100 บาท เป็นหนี้ 62 บาท และปัจจุบัน ทำมาหาได้ 100 บาท เป็นหนี้ 78.7 บาท ดังนั้น หนี้จึงอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ
โดยหนี้ของคนไทยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต ซื้อรถยนต์ แตกต่างจากต่างประเทศ ที่หนี้จะเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ฯ กล่าวถึง คน Gen Y อายุระหว่าง 29-31 ปี เดินมาสองคน จะเป็นหนี้ 1 คน และคนรุ่นใหม่จะเป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้เสีย 1 ใน 5 เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ หากปล่อยไว้ จะกลายเป็นเรื่องน่ากังวล ปัจจุบัน ธปท. จึงจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินตั้งแต่วัยกำลังศึกษา โดยเน้นกลุ่มอาชีวศึกษา เพื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว สามารถบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลได้
ขณะที่หนี้สินเฉลี่ยต่อบุคคลของไทย นายชนินทร์ ระบุ ตั้งแต่ปี 2553 คนเป็นหนี้ประมาณ 4 แสนบาท/คน แต่ปัจจุบัน (2561) หนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.7 แสน/คน และที่น่าตกใจยังพบคนที่เกษียณไปแล้ว อายุ 60-65 ปี ยังมีหนี้ 453,000 บาท
“เคยพบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งให้กู้ถึงอายุ 70 ปี และเมื่อมีการหักบำนาญเหลือแค่ 500 บาท ยังสามารถกู้ได้ จะเห็นได้ว่า หนี้คือรายได้”
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ฯ กล่าวต่อว่า คนที่มีปัญหาทางการเงินหนี้เสีย ส่วนใหญ่เป็นหนี้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รองลงมา เสื้อผ้า อาหารนอกบ้าน
อย่างไรก็ตาม ธปท. เคยมีผลสำรวจวค่าใช้จ่ายเฉพาะคนที่มีรายได้ พบว่า ถ้านำเฉพาะค่าใช้จ่ายปัจจัย 4 มาคิดคำนวณ พบว่า เมื่อรายได้หักค่าใช้จ่ายจำเป็น พบมีคนไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้แค่ 10% หากเพิ่มค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นเข้าไป จะเพิ่มคนไม่มีความสามารถดำรงชีพได้เป็น 30% ที่ร้ายแรงกว่านั้น ถ้าบวกหนี้เข้าไป ลบด้วยหนี้ มีคน 60% ที่ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ดังนั้น ถ้าลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ลดการก่อหนี้ จะช่วยได้
เมื่อถามว่า เทคโนโลยีมีผลทำให้หนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายชนินทร์ กล่าวด้วยว่า มีผลสำรวจ ถ้าครัวเรือนที่มีสมาชิกเล่นอินเทอร์เน็ต เช่น ครัวเรือนมีสมาชิก 10 คน เล่นอินเทอร์เน็ต 3 คน ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ส่วนคนในครอบครัวเล่นประมาณ 7 คน จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ซึ่งรายจ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับนัยยะทางสถิติ คนที่มีการช้อปปิ้งออนไลน์ ส่วนใหญ่ซื้อเสื้อผ้า หรือของใช้ส่วนบุคคล ทำให้ค่าใช้จ่ายมากกว่าครัวเรือนปกติ 40% นั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สภาพัฒน์ฯเปิดพฤติกรรมคนไทยอายุ 28-34 ปี 'หนี้เน่า'สูงสุด บัตรเครดิตแชมป์!
เข้าใจพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big data ของเครดิตบูโร
ตอกย้ำด้วยข้อมูล คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้จนแก่
เปิดไส้ใน คนไทย “เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน”
กยศ.-สหกรณ์ออมทรัพย์ เล็งเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร
Gen Y ครองแชมป์หนี้เยอะ สะท้อนค่านิยม ไม่รู้จักสมดุลการเงิน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/