บุคลาการทางการแพทย์ ยื่นหนังสือ ‘อนุทิน’ จี้เร่งรัดรัฐบาลยุติใช้ 3 สารเคมี ด้านผลสำรวจความคิดเห็น เภสัชกร-นิสิตนักศึกษา พบ 93.2% เห็นด้วยให้แบนอย่างเร่งด่วน
วันที่ 26 ธ.ค. 2562 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา พร้อมตัวแทนของสภาวิชาชีพและองค์กรผู้แทนประกอบอาชีพทางด้านการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยื่นหนังสือเร่งรัดรัฐบาลยุติการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต พร้อมรายชื่อแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล และรายชื่อประชาชนจากเว็บไซต์ change.org ณ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
โดยหนังสือระบุว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติอย่างเปิดเผยสู่สาธารณะในการให้ปรับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 (ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 แล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ได้สรุปให้ยกเลิกการใช้สาร 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยเลื่อนเวลาการยกเลิกการใช้ต่อไปจนถึงวันที่ 1 มิ.ย. 2563 และให้ไกลโฟเซตยังคงให้จำกัดการใช้ต่อไป ซึ่งขัดแย้งกับมติของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่เห็นด้วยเป็นเอกฉันท์กับการยกเลิกการใช้สารอันตรายทั้ง 3 สารนี้
สภาเภสัชกรรม ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงของสารทั้ง 3 ชนิด ทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ประกอบกับมาตรการจำกัดการใช้ไม่สามารถเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ จึงเปิดโอกาสให้สมาชิกเภสัชกรและนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี อย่างเร่งด่วนผ่านสื่อออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 12-23 ธ.ค. 2562
โดยมีเภสัชกรที่ให้ความคิดเห็น จำนวนทั้งสิ้น 2,068 คน เห็นด้วย 1,942 คน (ร้อยละ 93.9) ไม่เห็นด้วย 126 คน และนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ จำนวนทั้งสิ้น 461 คน เห็นด้วย 414 คน (ร้อยละ 89.8) ไม่เห็นด้วย 47 คน
ท้ายที่สุด มีการแสดงเจตนารมณ์ของเภสัชกรและนิสิตนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 2,356 คน (ร้อยละ 93.2) ที่สนับสนุนการยกเลิกใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต อย่างเร่งด่วน
ด้านนายอนุทิน กล่าวแสดงความยืนยันว่า ยังต้องให้มีการยุติการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพราะเกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากนั้นสภาวิชาชีพและองค์กรผู้แทนประกอบอาชีพทางด้านการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข ได้เดินทางไปสัปปายะสภาสถาน รัฐสภาไทย เพื่อยื่นหนังสือและชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ด้วย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์