ก.คมนาคมเตรียมเสนอ ครม.ยุติข้อพิพาททางด่วน ให้ขยายสัมปทาน BEM 15 ปี 8 เดือน สิ้นสุดพร้อมกัน 31 ต.ค. 2578
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 23 ธ.ค. 2562 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและและแผนการขนส่งและจราจร นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. แถลงข่าวการยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่าง กทพ.กับบริษัท ทางด่วนเเละรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ณ ห้องราชดำเนิน อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม
ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาแนวทางการยุติข้อพิพาทโดยการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด โดยต่อขยายระยะเวลาสัมปทานทั้ง 3 สัญญาออกไปสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค. 2578 (รวม 15 ปี 8 เดือน นับจากวันที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C สิ้นสุดลง) โดยไม่มีการลงทุนปรับปรุงทางด่วน (Double Deck)
- ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน
- ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D เป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน
- ต่อสัญญาทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ด เป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน
โดยหลังจากที่เสนอคณะรัฐมนตรีเเละมีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว กระทรวงฯ จะแจ้งให้ กทพ. เร่งเจรจากับบริษัทฯ และส่งผลการเจรจาเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 และส่งร่างสัญญาที่จะแก้ไขให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา เพื่อดำเนินการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 68 ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จก่อนที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C จะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 ก.พ. 2563
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการยุติข้อพิพาททั้งหมด โดยขณะนี้มีมีคดีที่อยู่ในการฟ้องร้อง BEM 15 คดี เเละกทพ. 2 คดี มูลค่าหนี้ 137,517 ล้านบาท
ทั้งนี้ การยุติข้อพิพาททางด่วนดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.994/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.932/2561 และคดีหมายเลขดำที่ อ.995/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.933/2561 ฉบับลงวันที่ 17ก.ย. 2561 ระหว่าง บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) (ผู้ร้อง) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) (ผู้คัดค้าน) กรณีกรมทางหลวงมีการก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต โดยเส้นทางดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางแข่งขันตามข้อ 16 ของสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด การเปิดใช้ทางยกระดับดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ร้องได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง โดยพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงจากประมาณการแก่ผู้ร้อง สำหรับปี 2542 จำนวน 730,800,000.- บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดตามสัญญาข้อ 25.6 ของเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2543 เป็นต้นไป และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059,200,000.- บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดตามสัญญาข้อ 25.6 ของเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2554 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (ครบกำหนดวันที่ 19 ธ.ค. 2561) และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง รวมเงินต้นและดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 เม.ย. 2562 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,359,916,478.- บาท
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 รับทราบรายงานผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่า เพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐ และเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทางราชการ กรณีหน่วยงานของรัฐมีข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือถูกฟ้องคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม (กทพ.) แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีในศาลปกครองสูงสุด โดยผลของคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการนั้น ให้หน่วยงานของรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายหรืออื่นใด จึงมีมติให้หน่วยงานของรัฐนั้นอาจดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาทเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้ โดยให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ และขอให้แจ้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐในกำกับดูแลทราบและถือปฏิบัติต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/