มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ แพร่จม.เปิดผนึก ถึงสื่อมวลชน ทำเนียบรัฐบาล หลังเสนอข่าวชูประเด็น “สาวประเภทสองแซวบิ๊กตู่ 52 มม.” ชี้สร้างภาพเหมารวมเชิงลบ นำไปสู่การตีตรากลุ่มหลากหลายทางเพศ หมกมุ่นกามารมณ์ จี้ตรวจสอบ พิจารณา หาแนวทางทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรกำกับสื่อ องค์กรสื่อ ผู้บริโภคสื่อ
ภายหลังจากสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าว โดยพาดหัวข่าวและนำเสนอในประเด็นการวัดขนาดอวัยวะเพศและสาวประเภทสองในบูทวันเอดส์โลก เมื่อ 19 พ.ย. 2562 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมชมด้วยนั้น จนสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เรื่อง การนำเสนอที่สร้างภาพเหมารวมเชิงลบ อันนำไปสู่การตีตราและเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กรณีการเสนอข่าวในประเด็น “สาวประเภทสองแซว บิ๊กตู่ 52 มม.” ระบุตอนหนึ่ง การนำเสนอดังกล่าวอาจเป็นข่าวที่สร้างความนิยมและความน่าสนใจดึงดูดผู้อ่าน เมื่อมีเรื่องเพศและแหล่งข่าวที่เป็นบุคคลสำคัญกับสาวประเภทสอง แต่กลับสร้างผลกระทบต่อสาวประเภทสองในข่าวและภาพแทนของสาวประเภทสองเชิงล้อเลียนอัตลักษณ์ทางเพศ และการผลิตซ้ำผ่านสื่อให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเหมารวมเป็นประเด็นด้านเพศเท่านั้น
เมื่ออ่านเนื้อหาข่าวพบว่า ข่าวดังกล่าวชูประเด็นเรื่องการวัดขนาดอวัยวะเพศของนายกรัฐมนตรี พร้อมระบุการให้ข้อมูลของแหล่งข่าว ซึ่งตัวแทนสาวประเภทสองว่า “นี่คือขนาดที่พวกเราเลือกใช้” จากการสอบถามแหล่งข่าวที่ปรากฎในข่าว ในฐานะสาวประเภทสอง พบว่า ประเด็นถูกบิดเบือนจากการให้ความรู้เรื่องการป้องกันให้กลายเป็นการแซว ดังคำที่ปรากฎในพาดหัว นับเป็นการสร้างภาพแทนเหมารวมให้สังคมมองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศผ่านวาจา
มูลนิธิเครือข่ายฯ ยังระบุว่า การนำเสนอข่าวดังกล่าว สร้างผลกระทบต่ออัตลักษณ์ของสาวประเภทสองให้เกิดอคติ เหมารวมให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหมกมุ่นในกามารมณ์ แม้ผู้เขียนอาจไม่ได้มีเจตนาข้างต้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มายาคติเหล่านี้ถูกสืบทอดส่งต่อผ่านข่าวที่เขียนขึ้น และสร้างผลกระทบต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่อคติทางเพศและการเลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนวทางในการนำเสนอข่าวประเด็นความหลากหลายทางเพศเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและเคารพความแตกต่างคือ ผู้สื่อข่าวต้องถามความต้องการในการเปิดเผยอัตลักษณ์ของแหล่งข่าวก่อนการนำเสนอ และแม้ไม่มีเจตนาในการเหมารวม ตีตรา สร้างอคติทางเพศต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ต้องคำนึงผลกระทบด้านที่มาจากการนำเสนอ ทำให้สาวประเภทสองถูกมองในเชิงลบเรื่องเพศ กลายเป็นวัตถุทางเพศ สุดท้ายต้องลด ละ เลิก เหมารวม สร้างภาพกะเทย หมกมุ่น รุนแรง ล้อเลียนขบขัน แต่ยังมีแง่มุมอื่นให้นำเสนอ
มูลนิธิเครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ผู้ทำประเด็นดังกล่าว ดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา ติดตาม และหาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรกำกับสื่อ องค์กรสื่อ และผู้บริโภคสื่อ เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน โดยสามารถขอรับคู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศกับทางมูลนิธิเครือข่ายฯ ได้ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/