รองปลัด สธ. ร่อนหนังสือด่วนที่สุดถึง ปธ.ป.ป.ช. ขออุทธรณ์ผลคะแนน ITA ปี 62 พบสารพัดปัญหา กังขาผู้รับจ้างประเมินฯอาจไม่มีความรู้ถ่องแท้ ยันต้องวัดจากกิจกรรมที่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ มิใช่ข้อมูลบนเว็บไซต์
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 16 หน่วยงาน ได้รับการประเมินผ่านทั้งหมด 14 หน่วยงาน ไม่ผ่าน 2 หน่วยงาน ทั้งนี้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้คะแนน 94.83 (A) ถือว่าได้สูงที่สุดในกระทรวงสาธารณสุขนั้น (อ่านประกอบ : เปิดชื่อ 71 หน่วยงานรัฐ สอบตกเกณฑ์ประเมินคุณธรรมโปร่งใส ปี 62 -'จุฬา- มธ.' ไม่ผ่านด้วย)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา นายยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ) ขออุทธรณ์ผลคะแนนและกระบวนการประเมิน ITA ระบุตอนหนึ่งว่า สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดแนวทางประเมินโดยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการประเมินเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ทันสมัย สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การดำเนินการประเมินสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินคือ 1.แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) 2.แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) 3.แบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (OIT)
อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบพบผลคะแนนประเมินรายหน่วยงานภายในประเภทกรมหรือเทียบเท่า จากคะแนนสูงสุดถึงต่ำสุด ในระบบ ITAS ได้จัดให้กองทัพบกได้คะแนนอันดับหนึ่ง (AA) กรมที่ดินอันดับสอง (AA) สำนักงานกิจการยุติธรรมอันดับสาม (AA) และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอันดับสี่ (A) ซึ่งผลการประเมินอันดับที่ 1-3 ข้างต้น มีผลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นที่ประจักษ์ โปร่งใสในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตหรือไม่
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขออุทธรณ์ผลคะแนนและกระบวนการประเมิน ITA ประจำปี 2562 ของศูนย์คุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ช. และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สรุปได้ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินเข้าร่วมการประชุมชี้แจงการประเมิน ITA โดยหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินต้องลงทะเบียนเข้าระบบ ITAS และนำเข้าข้อมูล IIT และ EIT พบปัญหาคือระบบไม่ตอบสนองการเข้าร่วมการประเมิน ที่มีขนาดของกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วประเทศที่เคยติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานรัฐ ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ITA เป็นจำนวนกว่า 1,006,275 ราย จึงเกิดปัญหาในการเข้าระบบ ITAS อยู่เสมอ
นอกจากนี้หน่วยงานที่เข้าประเมินยังเก็บรวบรวมข้อมูล IIT และ EIT ร่วมกับผู้รับจ้างประเมิน ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาตามการประมูลแบบ e-Bidding ข้อเท็จจริงนี้ผู้รับจ้างประเมินฯ สามารถดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบวัดการรับรู้ EIT ที่เหลือจากหน่วยงานสำรวจด้วยตนเองได้ในช่วงหลัง ป.ป.ช. ประกาศผู้ชนะ และต้องตรวจสอบและให้คะแนนหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินตามแบบตรวจ OIT แต่ระยะเวลาไม่เพียงพอต่อจำนวนกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงประสบการณ์ที่ไม่เพียงพอต่อการรับจ้างงานดังกล่าว
ทั้งนี้ผู้รับจ้างประเมินฯ มีองค์ความรู้ต่อเนื้อหาสาระ ข้อกฎหมายของข้อคำถามที่ปรากฏตามคู่มือประเมิน ITA อย่างถ่องแท้หรือไม่ ดังนั้นผู้รับจ้างประเมินฯ อาจตรวจสอบและให้คะแนนหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินตามแบบตรวจ OIT ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ข้อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือหลักฐานเชิงประจักษ์
“นอกจากนี้คู่มือการประเมิน ITA ไม่กำหนดแนวทางตอบอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม เป็นความเสี่ยงและเป็นสาเหตุให้ผู้รับจ้างประเมินฯ อาจใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบและให้คะแนนได้ ดังนั้นจึงมิได้ขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างแท้จริง ไม่ปรากฏแรงกระเพื่อมทางสังคม และกระบวนการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต” หนังสือดังกล่าว ระบุ
ในตอนท้ายหนังสือดังกล่าว ระบุว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงขออุทธรณ์ผลคะแนน OIT ที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการประเมินของที่ปรึกษา กรณีที่หน่วยงานที่มีผลคะแนนในการประเมินฯปี 2562 สูงสุดของส่วนราชการระดับกรมและเทียบเท่า โดยที่คะแนน OIT เท่ากับคะแนน OIT ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือร้อยละ 100 ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง เกิดผลสำเร็จเห็นเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นคะแนน OIT จึงต้องเกิดจากกิจกรรม มีกิจกรรมจึงเกิดงาน มิใช่มีงานที่ดำเนินการอย่างไม่จริงจัง ไม่ตรงไปตรงมาไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพียงเพื่อเชื่อว่ากิจกรรมและนำไปเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์หน่วยงาน เมื่อตรวจประเมินฯ จึงได้รับคะแนนเต็มเท่ากับหน่วยงานที่ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และเห็นเป็นที่ประจักษ์ และยืนยันจากการที่หลายหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าและสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้มาศึกษาดูงาน
อ่านประกอบ
INFO: สนง.ศาลยุติธรรม อันดับ 1 ‘คุณธรรม ความโปร่งใส’ ป.ป.ช.รั้ง 11 - กสม. สอบตก
INFO:TOP 10 มหาวิทยาลัย ผ่านเกณฑ์-สอบตก 'คุณธรรมความโปร่งใส’ ปี 62
INFO:แผนที่คะแนน ‘คุณธรรม ความโปร่งใส’62 ประเทศไทย ผ่าน 45 จังหวัด
ไขคำตอบ! การประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐทำกันอย่างไร
เปิดผลคะแนน 'คุณธรรมความโปร่งใส’สถาบันอุดมศึกษา-มหาวิทยาลัย 26 แห่ง ‘สอบตก
INFO:แผนที่คะแนน ‘คุณธรรม ความโปร่งใส’62 ประเทศไทย ผ่าน 45 จังหวัด
จำแนกรายจังหวัด คะแนน ‘คุณธรรมความโปร่งใส’ - 29 จว.สอบตก สุโขทัย E พิษณุโลกบ๊วย
INFO:หน่วยงานภาครัฐ 78 แห่ง สอบตก เกณฑ์คุณธรรมความโปร่งใส ปี 62
เว็บไซต์ขัดข้องดูผลงานไม่ได้! เลขาฯ สพฉ.แจงเหตุสอบตกประเมินคุณธรรมโปร่งใส ป.ป.ช. ปี 62
เปิดชื่อ 71 หน่วยงานรัฐ สอบตกเกณฑ์ประเมินคุณธรรมโปร่งใส ปี 62 -'จุฬา- มธ.' ไม่ผ่านด้วย
ฟังคำชี้แจง พล.ท.สรรเสริญ- อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ไฉนสอบตกประเมินคุณธรรมโปร่งใส ปี 62
ผวจ.พิษณุโลกแจงได้คะแนน'คุณธรรมโปร่งใส'ปี 62 ต่ำสุด อ้างระบบ ป.ป.ช. บกพร่อง
กลาโหมรั้งท้าย-คลังแชมป์! ป.ป.ช.เปิดผลคะแนนคุณธรรม-โปร่งใสหน่วยงานรัฐปี62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/