BEM พาไปดูขั้นตอนประกอบสร้างรถไฟฟ้าจาก Siemens ประเทศออสเตรีย จัดซื้อทั้งหมด 35 ขบวน รับมอบแล้ว 18 ขบวน เริ่มทดสอบระบบ Demo Run ในส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินแล้วตั้งแต่ต้น พ.ย. 62 หลังจากนี้เตรียมเปิดให้ผู้โดยสารทดลองใช้ทั้งหมด เผยปรับสเปกให้ทันสมัยขึ้น-มี CCTV รองรับอัตราการเติบโตผู้โดยสาร 4-5% ต่อปี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 3-8 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการระบบราง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พร้อมด้วยทีมงาน นำคณะผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ดูโรงงานผลิตรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens ที่กรุงเวียนนา (Vienna) และเมืองกราซ (Graz) ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับ BEM ที่จะนำรถไฟฟ้าดังกล่าวมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม (MRT) และส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง รวมทั้งส่วนต่อขยาย เตาปูน-ท่าพระ ที่อยู่ระหว่างเตรียมการเดินรถในเร็ว ๆ นี้
นายวิทูรย์ กล่าวว่า การจัดซื้อรถไฟฟ้าดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 โดยจัดซื้อทั้งหมด 35 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ โดยบริษัท Siemens ส่งและ BEM รับมอบไปแล้ว 18 ขบวน นำไปทดสอบระบบแล้ว 16 ขบวน และอยู่ระหว่างรอนำไปทดสอบระบบ 2 ขบวน ส่วนที่เหลือจะทยอยจัดส่งให้ครบ หลังจากนั้นวันที่ 31 มี.ค. 2562 จึงเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดีในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ได้เริ่มดำเนินการทดสอบระบบแล้ว คาดว่าหลังจากนี้อาจเปิดให้ผู้โดยสารทดลองใช้ หรือที่เรียกว่า Demo Run โดยเบื้องต้นต้องรอให้ได้ใบเซอร์ระบบอาณัติสัญญาณจากวิศวกรอิสระจากบริษัท Siemens ก่อน
“สำหรับขบวนรถทั้งหมด 35 ขบวนนั้น สเปกต่าง ๆ คล้ายของเดิม แต่มีการเพิ่มเติมเทคโนโลยีบางส่วนให้ทันสมัยมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ Operator โดยสิ่งที่ผู้โดยสารจะเห็นได้ชัดขึ้นคือการติดตั้งจอระบุพิกัดว่าตอนนี้อยู่สถานีอะไร สถานีหน้าคืออะไร มีระบบ CCTV ในรถ เป็นต้น” นายวิทูรย์ กล่าว
(นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รอง กก.ผจก.สายงานปฏิบัติการระบบราง BEM (ขวา) กับคณะผู้บริหารบริษัท Siemens สาขากรุงเวียนนา)
นายวิทูรย์ กล่าวอีกว่า อัตราผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม รวมถึงส่วนต่อขยายบางซื่อ-เตาปูนนั้น ในช่วงหนาแน่นนั้นประมาณ 4.7 แสนคน/วัน โดยปัจจุบันความถี่ในการเดินรถของ BEM อยู่ที่ 3.25 นาที/ขบวน (อัตราความถี่สูงสุดในปัจจุบัน 2 นาที/ขบวน) ส่วนอัตราการเติบโตของผู้โดยสารนั้น ที่คำนวณไว้จะเติบโตประมาณปีละ 4-5% อย่างไรก็ดีตัวเลขทั้งหมดต้องรอดูตามการประมาณการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชลแห่งประเทศไทย (รฟม.) และอัตราค่าโดยสารยังคงเดิมอยู่ที่ 16-42 บาท แม้จะมีการขยายเส้นทางเพิ่มก็ตาม
“ผู้โดยสารขึ้นอยู่กับว่า คนรอบ ๆ มาอยู่ในเส้นทางใกล้ขึ้นหรือไม่ ลองไปดูปีแรก ๆ ของเรา เส้นรัชดาภิเษกโล่งหมดเลย หลังจากนั้นจะโตตามธรรมชาติ” นายวิทูรย์ กล่าว
(รถไฟฟ้าของ Siemens ที่อยู่ระหว่างดำเนินการผลิต ก่อนส่งมอบให้ ฺBEM)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระบวนการผลิตรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens ในส่วนตัวตู้ขบวนผลิตที่บริษัท Siemens สาขาประเทศตุรกี ส่วนเครื่องยนต์และระบบทั้งหมดผลิตที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ก่อนที่จะนำ 2 ส่วนเข้ามาประกอบที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/