คนในกองทัพอากาศ ส่งจดหมายร้องเรียน 'อิศรา' ปม ทอ. ผูกขาดจ้างเอกชนรับงานอาวุธยุทโธปกรณ์ 3 โครงการรวด ‘ปรับปรุงเครื่องบิน Alpha Jet A- ซื้อขีปนาวุธ-ทำระบบ Link T’ ชี้ตั้งราคาแพงแต่ประสิทธิภาพมีจำกัด แถมมีความเกี่ยวข้อง บ.ขายจีที 200 ที่เคยเกิดปัญหาในอดีตด้วย ด้านโฆษก ทอ. โต้ไม่จริงยันใช้จ่ายงบประมาณคุ้มค่า การันตีบริษัทมีศักยภาพ คอนเนกชั่นต่างประเทศดีช่วยนำองค์ความรู้มาใช้พัฒนาได้มาก- ปัดข่าวลือเตรียมจัดซื้อ F-35
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนามจากกองทัพอากาศ ส่งข้อมูลมายังสำนักข่าวอิศราเพื่อร้องเรียนกรณีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ใน 3 ประเด็น คือ 1.การปรับปรุงเครื่องบินรุ่น Alpha Jet ที่ไม่คุ้มค่า เนื่องจากเป็นเครื่องบินรุ่นเก่า อีกทั้งค่าบำรุงรักษาก็แพงกว่าเครื่องบินรบ F-16 เพราะเป็นเครื่องบินที่มีจำนวน 2 เครื่องยนต์ ขณะที่การส่งซ่อมใหญ่ นั้น ต้องดำเนินการโดยผ่านบริษัทเอกชนรายนี้
@ ภาพเครื่องบินรุ่น Alpha Jet / อ้างอิงจาก www.thaifighterclub.org
2. การจัดซื้อขีปนาวุธอากาศสู่อากาศรุ่น IRIS T ที่มีราคาแพงมาก และมีขีดความสามารถใกล้เคียงกับอาวุธที่กองทัพอากาศมีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทเอกชนรายเดิมก็เป็นผู้จัดหาขีปนาวุธรุ่นดังกล่าวด้วยเช่นกัน
3. บริษัทเอกชนรายนี้ ยังทำระบบ Link T ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสามารถใช้ได้กับเครื่องบินรบบางรุ่นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น มีการกำหนดว่าจะต้องมีการปรับปรุงเครื่องบิน F-5 E/F ว่าจะต้องใช้ระบบ Link T ได้ จึงทำให้การปรับปรุงเครื่องบิน F-5 E/F ไม่สามารถที่จะทำโดยบริษัทอื่นได้
ทั้งนี้ ในท้ายจดหมายร้องเรียน ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมากองทัพอากาศมีการใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างไปกับบริษัทเอกชนรายนี้ ไปจำนวนถึงร้อยละ 40-50 ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเอกชนรายนี้ พบว่า มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่เคยเครื่องมือตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือ จีที 200 ที่มีปัญหาในอดีตด้วย
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ (ทอ.) เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนกรณีนี้
@ พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ (ทอ.)
โดย พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ กล่าวชี้แจงข้อร้องเรียนการผูกขาดเข้ามารับงานของเอกชนรายหนึ่ง ต่อกรณีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศหลายโครงการ ว่า “การพัฒนาระบบร่วมกันกับบริษัทเอกชนรายนี้ อย่าไปมองว่าเราทำกับบริษัทเอกชนรายนี้แห่งเดียว เพราะลักษณะการทำธุรกิจของบริษัทรายนี้ มีความร่วมมือกับบริษัททางด้านการทหารหลายแห่งในต่างประเทศ บริษัทสามารถที่จะนำเอาองค์ความรู้จากบริษัทพันธมิตรในต่างประเทศมาช่วยกันพัฒนาระบบ Link ของกองทัพอากาศอีกทีหนึ่ง”
ส่วนเรื่องความเกี่ยวข้องกับบริษัทเครื่องมือตรวจสอบวัตถุระเบิด หรือ จีที 200 ที่มีปัญหาในอดีตนั้น พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ ยืนยันว่า “ในเรื่องคดีความของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกรณี จีที 200 นั้น ต้องขอเรียนว่าต้องแยกกันให้ออกว่าเป็นคนละเรื่องกัน กรณีของบริษัทเอกชนที่เข้ามารับงานการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศในปัจจุบันนั้น อย่างที่ผมได้เรียนไปแล้วว่าบริษัทแห่งนี้ มีความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศมากมาย ดังนั้นการที่บริษัทในต่างประเทศนั้นมีปัญหาแล้วบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่มีความร่วมมือกับทางบริษัทไทย ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทไทยนั้นจะต้องมีปัญหาไปด้วย เพราะว่าถ้าคิดแบบนี้มันก็มีปัญหากันหมด”
ส่วน กรณีการปรับปรุงเครื่องบินรบ Alpha Jet นั้น พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ขอเรียนว่ามีความคุ้มค่าในการปรับปรุงอย่างแน่นอน เพราะเป็นการปรับปรุงเพื่อทำให้เครื่องบินรบนั้นมีความทันสมัย ปลอดภัยและสามารถใช้งานไปได้อย่างน้อยอีก 10 ปี
พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเครื่องบิน Alpha Jet นั้นเป็นเครื่องบินที่มี 2 เครื่องยนต์ จึงแพงกว่าการซ่อมเครื่องยนต์ของเครื่องบิน F-16 นั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน เพราะเครื่องยนต์ของเครื่องบิน Alpha Jet และเครื่องยนต์ของเครื่องบิน F -16 นั้นเป็นคนละประเภทกันและก็คนละรุ่นกัน ดังนั้นประสิทธิภาพก็แตกต่างกันเป็นอย่างมาก
พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ ระบุว่า “เครื่องยนต์ F-16 ถือได้ว่าเป็นเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูง แบบเดียวกับที่ใช้เครื่องบินรบรุ่น F-15 ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา แต่เครื่อง F-15 นั้นจะใช้ 2 เครื่องยนต์ แต่ F-16 จะใช้แค่เครื่องยนต์เดียว ซึ่งการซ่อมบำรุงเครื่องบินรบในปัจจุบันไม่ได้มีการซ่อมใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีในเรื่องของการซ่อมและปรับปรุงไปทีละชิ้นส่วนด้วย”
“เครื่องบิน Alpha Jet นั้นถือได้ว่าเป็นเครื่องบินรบที่ยังมีประสิทธิภาพในฐานะเครื่องบินโจมตีของกองทัพอากาศ ซึ่งในปัจจุบันการใช้เครื่องบินโจมตีไม่จำเป็นที่จะต้องแบกอาวุธเยอะๆไปเหมือนกับสมัยก่อน เนื่องจากระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย ซึ่งการปรับปรุงเครื่องบิน Alpha Jet นั้นก็จะทำให้เครื่องบินชนิดนี้มีขีดความสามารถในการโจมตีให้แม่นยำต่อเป้าหมายมากขึ้น ดังนั้นต้องขอย้ำว่าทางกองทัพอากาศก็ได้พยายามที่จะใช้งบประมาณที่มีอยู่ ปรับปรุงเครื่องบินต่างๆให้มีความสามารถเหมาะสมพร้อมรบมากที่สุด” พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ระบุ
สำหรับประเด็นที่มีการร้องเรียนในเรื่องประสิทธิภาพของจรวด IRIS T นั้น พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการไปตรวจสอบข้อมูลดูแล้วพบว่าขีดความสามารถของจรวดรุ่นนี้ยังเป็นจรวดประเภทอากาศสู่อากาศในระยะพิสัยใกล้ที่ยังมีประสิทธิภาพสูง และการใช้งานนั้นไม่มีปัญหา โดยประสิทธิภาพนั้นถือได้ว่าเทียบเท่ากับจรวดอากาศสู่อากาศรุ่น AIM 9X ที่ใช้ในกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาและมีใช้งานในกองทัพอากาศไทย
พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ ยังกล่าวชี้แจง เรื่องการทำระบบ Link T ว่า “ต้องขอชี้แจงความหมายคำว่า Link ก่อนว่า ในการรบบนอากาศสมัยปัจจุบันนั้นไม่เหมือนกับสมัยก่อน เพราะเป็นการรบที่ไกลกว่านอกระยะสายตา (บีวีอาร์) การส่งเครื่องบินขึ้นไปนั้นจะต้องมีขีดความสามารถในการเชื่อมต่อข้อมูล ระหว่างเครื่องบินรบ เครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้า (เอแวค) และศูนย์บัญชาการ แบบเรียลไทม์ โดยเครื่องบินรบ 1 เครื่องเห็นอะไร ทุกคนก็จะต้องเห็นเหมือนกันหมด ซึ่งนี่คือหลักการของการรบสมัยใหม่ที่ผู้ได้เปรียบนั้นจะต้องเป็นผู้ที่รวบรวมข้อมูลในสนามรบมากที่สุด และได้ข้อมูลก่อน ในปัจจุบันนั้นกองทัพอากาศสามารถทำโครงข่ายเชื่อมต่อได้บางส่วนแล้ว และมีแผนที่จะสร้างระบบเน็ตเวิร์กให้ได้ครอบคลุมทั้งหมด จึงได้มีการเซ็นสัญญาร่วมมือพัฒนาระบบกับทางด้านของบริษัทเอกชนรายนี้ เพื่อจะสร้างระบบเครือข่ายในการกองทัพอากาศต่อไป ซึ่งการเข้ามาของบริษัทนี้ก็เป็นไปตามระเบียบ”
โฆษกกองทัพอากาศ ยังระบุต่อว่า ในช่วงนี้มีข่าวแปลกๆเกี่ยวกับทางกองทัพอากาศออกมามากพอสมควร ทั้งข้อมูลที่ส่งมายังสำนักข่าวอิศรา รวมไปถึงข่าวลือเรื่องว่ากองทัพอากาศจะจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบที่ไปที่มาของข่าวลือเหล่านี้ว่ามาจากไหน ทำไมออกมาในช่วงนี้ แต่ต้องขอย้ำว่ากองทัพอากาศนั้นยังไม่มีโครงการที่จะจัดหาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ในเร็วๆนี้ แต่ภารกิจของกองทัพอากาศนั้นจะเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาในระบบอำนวยการรบ และซอฟแวร์ต่างๆให้มีความทันสมัยก่อนเท่านั้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/