'กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์' นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา แจงผลสอบ สตง. ตรวจพบงานก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โซนที่ 1 บ้านห้วยลึก 143 ล้าน ปัญหาเพียบ ยันดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ส่วนประเด็นกำหนด TOR เปิดช่องให้ผู้รับเหมารับงานไม่เป็นความจริง เหตุตรวจสอบคุณสมบัติก่อน แต่ยอมรับมีปรับเงินทำงานล่าช้า 27 ล้าน
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวกรณีงานก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โซนที่ 1 บ้านห้วยลึก ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา วงเงิน 143 ล้านบาท ตามแบบที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ฉะเชิงเทรากำหนด ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการกำหนดขอบเขตและรายละเอียดงาน หรือ TOR ของ อบจ.ฉะเชิงเทรา มีลักษณะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ที่จะเสนอราคาที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีเครื่องจักรได้ทำงาน ส่งผลทำให้การดำเนินงานโครงการมีปัญหาตามในภายหลัง ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังตรวจพบการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง มีงานซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น เช่น อาคารระบบผลิตพลังงานและสารปรับปรุงดินด้วยระบบจุลินทรีย์ภายในอาคารราคากลางสูงกว่าความเป็นจริง งานท่อส่งแก๊สซ้ำซ้อน อาคารรับน้ำทิ้งซ้ำซ้อน ก่อนส่งเรื่องให้ผู้บริหาร อบจ.ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป (อ่านประกอบ : สตง.สอบศูนย์กำจัดขยะ อบจ.ฉะเชิงเทรา 143 ล.- พบเปิดช่องTOR เอกชนรับงาน-สร้างเสร็จถนนทรุด)
ล่าสุด นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกอบจ.ฉะเชิงเทรา ให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงสำนักข่าวอิศรา ว่า งานก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โซนที่ 1 บ้านห้วยลึก ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ทำถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ สตง. แล้ว โดย อบจ.ฉะเชิงเทรา ได้ตรวจสอบและปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างเนื่องจากข้อตรวจพบของสตง. เป็นเงิน 3.85 ล้านบาท และดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทางราชการ รวมทั้งแจ้งคู่สัญญาเข้าดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องแล้ว
นายกิตติ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเรื่องการกำหนด TOR ที่ สตง.ระบุว่า มีการเปิดช่องให้ผู้เสนอราคาที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีเครื่องจักรได้เข้าทำงานนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ผู้รับเหมาต้องมีความพร้อมก่อนเข้ามาทำงาน ซึ่งทางอบจ.ฉะเชิงเทราได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว
"ผมยืนยันว่าการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร เป็นไปตามมาตรฐานครบถ้วนทุกอย่าง สามารถตรวจสอบได้ ส่วนในเรื่องของผู้รับเหมาที่จะเข้ามาทำงานงานนั้นต้องมีความพร้อมก่อนทำงาน" นายกอบจ.ฉะเชิงเทรา ระบุ
นายกอบจ.ฉะเชิงเทรา ยังกล่าวชี้แจงต่อว่า ส่วนประเด็นเรื่องงานชำรุดเสียหายหลังก่อสร้างเสร็จ เช่น ทางเดินรอบอาคารผลิตพลังงานทรุดตัว ทางเข้าอาคารผลิตพลังงานทั้ง 2 อาคารทรุดตัว ผนังอาคารผลิตกระแสไฟฟ้าร้าวตลอดความสูงของผนังอาคารนั้น ตามเงื่อนไขผู้รับเหมาต้องเป็นผู้จัดการซ่อมบำรุงซึ่งเป็นไปตามสัญญารับประกันความชำรุดบกพร่องระยะเวลา 2 ปี แต่ถ้าเลย 2 ปี แล้วทางอบจ.ฉะเชิงเทราจะเป็นผู้จัดการซ่อมบำรุงเอง ปัจจุบันมีการซ่อมบำรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"การดำเนินงานโครงการนี้ อบจ.ฉะเชิงเทรา กำหนด TOR ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงถูกต้องตามมาตรฐานแน่นอน ส่วนรายละเอียดการดำเนินงาน เดิมที่มีการขออนุมัติงบประมาณไป 480,000,000 บาท แต่ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 143,506,600 บาท มีเอกชนเข้ารวมแข่งขันเสนอราคา 3 ราย คือ บริษัทวันทสันต์ จำกัด กิจการร่วมค้า ตั้งต้นดี ควอลิตี้ และบริษัทแพร่ธํารงวิทย์ จํากัด เอกชนที่ชนะได้งานไป คือ กิจการร่วมค้า ตั้งต้นดี ควอลิตี้ แต่การทำงานล่าช้า ถูกปรับเงินไป 27,840,000 บาท " นายกอบจ.ฉะเชิงเทรา ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/