เครือข่ายภาคประชาสังคม เสนอนโยบายจัดการแร่ คลอดกม. ฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนจากมลพิษโดยเฉพาะ ผู้แทน คพ.เผยเวลานี้ยังไม่มีเหมืองใด ฟื้นฟูสำเร็จ เหตุยังอยู่ในกระบวนการ
วันที่ 4 ต.ค. 2562 เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวด้อม (คสสส.) ร่วมกับโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง การฟื้นฟืพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ:จากกรณีเหมืองทองคำ จ.เลย สู่ข้อพิจารณาทางนโยบายการบริหารจัดการแร่ของไทย ณ โรงแรม ริชมอนด์ จ.นนทบุรี
น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวถึงข้อเสนอต่อนโยบายการบริหารจัดการแร่และกลไกทางกฎหมายเพื่อการฟื้นฟู เยียวยา และชดเชยว่า พ.ร.บ.แร่ กำหนดไว้ว่า จะต้องฟื้นฟูเหมืองแร่เมื่อดำเนินการเสร็จตามรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ไม่ได้เขียนว่า จะต้องทำอย่างไร หากเกิดมลพิษช่วงระหว่างประกอบกิจการหรือมีประทานบัตร แม้กระทั่งอีไอเอไม่ได้เขียนไว้ เพราะเชื่อว่า การประกอบกิจการจะไม่มีผลกระทบ
ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่กฎหมายไม่เอื้อต่อประเด็นมลพิษที่เกิดระหว่างประกอบกิจการ ทั้งที่เหมืองแร่ทั้งหมดที่มีอยู่ ล้วนมีปัญหามลพิษระหว่างดำเนินการทั้งสิ้น
“เมื่อกฎหมายไม่ชัดเจนเรื่องการฟื้นฟูว่าใครจะดำเนินการ จึงกลายเป็นปัญหา โดยเวลาฟื้นฟู จำเลยจะทำไม่ได้เลย ต้องมีหน่วยงานเข้าไปทำด้วย และหน่วยงานต้องใช้งบประมาณตนเอง ซึ่งโดยหลักการแล้ว ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่แบบนั้น และการดำเนินการฟื้นฟู ไม่สามารถปล่อยบริษัทฟื้นฟูได้เพียงฝ่ายเดียว จำเป็น ต้องให้หน่ยวงานดำเนินการร่วมด้วย”
สำหรับตัวอย่างรูปธรรมที่ผู้ก่อมลพิษจ่ายฟื้นฟูเยียวยากรณีเหมืองแร่ ทนายความและผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุยังไม่มี ยกเว้นกรณีน้ำมันรั่ว จ.ระยอง ปตท.ประกาศชดใช้เยียวยาให้แก่ชาวบ้าน แต่คำถามคือการฟื้นฟูจัดการนั้นเป็นไปตามมาตรการของบริษัท ไม่ใช่มาตรฐานของเรา และส่วนใหญ่การฟ้องร้องให้เยียวยาและฟื้นฟู มักได้เพียงการเยียวยาเท่านั้น
ด้าน ดร.ชลาทิพย์ รัตสุข ผอ.ส่วนน้ำเสียอุตสาหกรรม กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหา คพ.มักถูกพาดพิงเสมอ แต่ความจริงตามอำนาจหน้าที่ เราเปรียบเสมือนหน่วยงานท้ายน้ำ จะเข้าไปสอบสวนหาแหล่งที่มา ทำแผนฟื้นฟู เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ส่วนการดำเนินการผลักดันจริง ๆ ต้องส่งให้หน่วยงานควบคุมกำกับดูแล ซึ่งกรณีเหมืองแร่ คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูของ คพ. เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูทั้งหมด โดยเน้นเรื่องเทคโนโลยีจัดการมลพิษ อย่างไรก็ตาม ยังมีการฟื้นฟูสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน จึงต้องบูรณาการจัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานอื่น และเชื่อว่า จะสอดคล้องกับแผนชุมชน
“ปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ใดฟื้นฟูสำเร็จ เพราะยังอยู่ในกระบวนการ กรณี ‘คลิตี้’ เป็นเพียงมาตรการหนึ่ง ยังไม่เห็นผลเช่นกัน เพราะยังมีกิจกรรมอื่นต้องดำเนินการต่อ และแต่ละแห่งจะมีผลกระทบแตกต่างกัน จึงต้องดูลักษณะของข้อมูล ปัญหา และผลกระทบ” ผอ.ส่วนน้ำเสียอุตสาหกรรม คพ. ระบุ
ขณะที่ ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า พ.ร.บ.แร่ เขียนเรื่องการฟื้นฟูตั้งอยู่ภายใต้อีไอเอ ซึ่งปัญหาสำคัญ คือ หัวใจของการฟื้นฟูที่อยู่ภายใต้อีไอเอกับชาวบ้านพูดถึงเป็นคนละเรื่องกัน ยกตัวอย่าง โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง จะเห็นว่า การฟื้นฟูของโรงไฟฟ้าเป็นการปรับปรุงทัศนียภาพของพื้นที่ให้สวยงามเท่านั้น ไม่ใช่การฟื้นฟูที่เราต้องการให้ทำความสะอาดมลพิษที่เกิดจากการทำกิจกรรมของเหมืองแร่ให้กลับคืนสู่สภาวะเดิม จึงเสนอให้ประเทศไทยมีกฎหมายฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนจากมลพิษโดยเฉพาะ
สุดท้าย ดร.นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรสร้างมาตรการป้องกันไว้ก่อน โดยให้เปิดขอประทานบัตรเฉพาะพื้นที่จำเป็นจริง ๆ และเป็นไปได้หรือไม่ ผู้รับใบอนุญาตประทานบัตร ต้องประกอบกิจการแบบกรีนโปรดักชั่น ไม่ปล่อยน้ำปนเปื้อนสู่ธรรมชาติ เพราะจะส่งผลกระทบต่อคน แต่ให้เหมืองเก็บน้ำไว้เอง ซึ่งไม่มั่นใจว่า ทางวิศวกรรมทำได้หรือไม่ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/