เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ เชียงใหม่ จี้แก้ไข EIA เนื้อหาไม่ครอบคลุม ขาดความครบถ้วน หวั่นเวทีจัดรับฟัง 28 ก.ย. มิชอบด้วยกม. ด้านปลัดจังหวัดเผยเพิ่มเติมเนื้อหารายงานฯ ต้องรอการพิจารณาจาก กพร.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 19 ก.ย. 2562 เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือถึงนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ทบทวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านกะเบอะดิน บ้านขุน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาในข้อเรียกร้อง คือ
ตามหนังสือบริษัทเอกชน ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินจากอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตามคำขอเลขที่ 1 /2543 เนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จ.เชียงใหม่ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของราษฎรในพื้นที่การขอประทานบัตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ในวันที่ 28 ก.ย. 2562 ณ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและนำข้อมูลเสนอต่อกรมอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ ผู้แทนชาวบ้านมีความเห็นต่อการดำเนินการดังกล่าว 6 ประการ ได้แก่ 1 .รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม( Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 (EIA)ที่ ได้จัดทำประชามติ เมื่อปี 2552 ซึ่งมีข้อมูลรายงานฉบับนี้ไม่มีการจัดทำเวทีประชาคมของหมู่บ้านที่มีความคิดเห็นเฉพาะผู้นำหมู่บ้านที่ 20 บ้านขุน ต.อมก่อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งไม่มีความครอบคลุมถึงชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2562 ได้มีประกาศจากอุตสาหกรรมจ.เชียงใหม่ เชิญชวนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบระยะ 1 กม. ห่างจากจุดทำเหมือนแร่ ประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือ บ้านกะเบอะดิน หมู่ 12 และบ้านขุน หมู่ 20 ต. อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จึงเห็นว่ารายงานฉบับนี้ขัดกับความเป็นจริง และไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างครบถ้วน ทั้งที่เป็นหมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นการจัดทำรายงานที่ไม่มีความคลุมถึงหมู่บ้านและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และไม่สามารถนำไปใช้พิจารณาได้อย่างแท้จริง
2.EIA ของโครงการทำเหมือนแร่ถ่านหินตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 จัดทำแล้วเสร็จเมื่อ ต.ค. 2554 ไม่มีความโปร่งใส และกระบวนการจัดทำข้อเท็จจริง ซึ่งมีความบกพร่องหลายอย่าง เช่น วุฒิภาวะของผู้เข้าร่วมประชาคม มีบางส่วนไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ได้ให้ความคิดเห็นอย่างไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วน ลายนิ้วมือและชาวบ้านที่มี หลายคนไม่ได้ร่วมลงชื่อจริง แต่มีปรากฎในวาระการประชุมประชาคมด้วย จึงเห็นว่ารายงานฉบับนี้ไม่มีความโปร่งใส ไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาได้
3.จากข้อมูลข้างต้นเครือข่าย ชาวบ้านเห็นว่า EIAโครงการทำเหมืองแร่ถ่านหิน คำขอประทานบัตร 1/2543 จัดทำแล้วเสร็จ ต.ค. 2554 ไม่มีความถูกต้องชอบธรรมตั้งแต่ต้น การจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบระยะ 1 กม. ในวันที่ 28 ก.ย. 2562 จึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังคงดำเนินการอยู่
4.หากจ.เชียงใหม่ โดยอุตสาหกรรมจ.เชียงใหม่ ยังคงดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในระยะ 1 กม. ในวันที่ 28 ก.ย. 2562 เครือข่ายเหมืองแร่ยุติเหมืองแร่อมก๋อย ขอประชาชนชาวอมก๋อยเรียกร้องให้มีตัวแทนเข้ารับฟังความคิดเห็น โดยที่ตัวแทนสามารถแสดงความคิดเห็นและสามารถนำความคิดเห็นของบุคคลเหล่านั้นไปประกอบการพิจารณาด้วย โดยภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้ 1. ภาคประชาชน 2.มูลนิธิพัฒนาเอกชน 3.สาธารณสุขประจำอำเภอ 4.ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน 5.คณะกรรมการพัฒนาชีวิตชาวอำเภออมก๋อย 6.เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย
5.เพื่อให้เป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง กลุ่มเครือข่ายชาวบ้านมีความเห็นว่า ต้องการให้มีการจัดทำเวทีประชาคมหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบใหม่ทั้งหมด ด้วยเหตุผลความรู้ความเข้าใจของชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อยในขณะนั้นยังมีไม่เพียงพอและระยะเวลาจากวันที่ดำเนินการประชุมประชาคมจนถึงปัจจุบันเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้วส่งผลให้สังคมและวิถีชีวิตของบุคคลที่อยู่อาศัยในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการนำข้อมูลที่ผ่านมาใช้ประกอบกรพิจารณาเหตุการณ์ในปัจจุบันถือว่าไม่ยึดถือตามประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง
6.เครือข่ายขอทราบผลการพิจารณาดำเนินการข้อเรียกร้องภายในวันที่ 23 ก.ย. 2562 เพื่อนำไปเป็นข้อมูลชี้แจงให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารให้ทราบต่อไป
นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า วันที่ 28 ก.ย. 2562 ยังต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ประชาชนชาวอมก๋อยที่มีความคิดเห็นอยากเสนอสามารถเข้าร่วมกับที่ประชุมได้
ส่วนการขอเพิ่มเติมรายละเอียดใน EIA นั้น ต้องรอการพิจารณาจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง
“เบื้องต้นจะรับหนังสือไว้เพื่อให้อุตสาหกรรมจ.เชียงใหม่ เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่หรือหน่วยงานระดับสูงพิจารณาต่อไป ว่าจะสามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้งหมดได้หรือไม่” ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/