เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ เปิดตัวโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก” ชวน ปชช.ร้องเรียนพื้นที่เสี่ยงคุกคามทางเพศ ผ่าน Chat bot #ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ รวบรวมข้อมูล ชงแนวทางแก้ไขต่อผู้ว่ากทม.-หน่วยงานรัฐ สถิติเผยผู้หญิงไทย 86 % เคยถูกคุกคามทางเพศบนถนน พร้อมแนะวิธีสังเกต 8 ลักษณะพื้นที่เสี่ยง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ประกอบไปด้วย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (Action Aid) ,แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล,เครือข่ายสลัมสี่ภาค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), Shma SoEn , Urban Creature และ Big Trees ร่วมกับเครือข่ายสถาปนิก นักผังเมือง เครือข่ายคนเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เปิดตัวโครงการ"ปักหมุดจุดเผือก"เพื่อชวนประชาชนร่วมกันออกสำรวจค้นหาจุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในเมืองใหญ่ และร่วมกันสร้างเมืองปลอดภัยผ่าน Chat bot #ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวถึงการจัดกิจกรรม ‘First Pin ปักหมุด จุดเผือก’ ว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในประเทศไทย ว่าไม่ได้เกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะระหว่างการเดินทางเพื่อไปยังจุดหมายต่าง ๆ ผ่านพื้นที่บนท้องถนนและตรอกซอกซอยในชีวิตประจำวันของผู้หญิงก็เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศที่เรียกว่า street harassment มากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งการการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นนอกจากจะสร้างความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของผู้หญิงแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะฉุดรั้งความก้าวหน้า ปิดโอกาสการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้หญิงในหลากหลายมิติด้วย
สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนั้น ส่วนใหญ่จะมีลักษณะ 1.เป็นซอยตัน ไม่มีเส้นทางอื่นให้เลือก 2.เป็นทางผ่านไปในจุดที่อับหรือเปลี่ยว 3.มีสิ่งบดบังสายตาซึ่งมีโอกาสเป็นจุดซุ่มซ่อนตัวของคนร้าย 4. เป็นพื้นที่ปิดคนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนรอบข้างมองไม่เห็น 5. ไม่มีแสงไฟส่องสว่าง หรือ แสงสว่างไม่เพียงพอ 6. ไม่มีป้ายบอกชื่อสถานที่หรือป้ายบอกทางทำให้คนนอกพื้นที่ไม่สามารถระบุจุดหรือตำแหน่งที่ตัวเองอยู่ได้ชัดเจน 7. อยู่ห่างไกลจากจุดบริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ไม่มีคนเดินทางสัญจรไปมา 8.ไม่มียามรักษาความปลอดภัยในจุดที่สมควร และ ไม่มีแหล่งขอความช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ง่าย
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
“ความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสทางสังคมของคนที่ต้องสัญจรไปมาในพื้นที่สาธารณะ ถ้าเราต้องใช้ชีวิตแต่ละวันอยู่กับความเสี่ยง ความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย หรือแย่กว่านั้น ถ้าเราเคยถูกคุกคามทางเพศ เราก็มีแนวโน้มที่จะจำกัดตัวเอง เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น คนที่ต้องออกจากบ้านไปทำมาหากินตั้งแต่เช้ามืด หรือเลิกงานดึก หรือบ้านอยู่ซอยลึก ก็ต้องทนอยู่แบบหวาดระแวง เครียด กังวล กลายเป็นว่าเขาเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย” ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าว
ด้าน น.ส.รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายฯได้ ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพมหานครหลายพื้นที่ เช่น สวนสาธารณะใกล้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ริมคลองหลอด และสนามหลวงในเวลากลางคืน ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความปลอดภัย ทั้งนี้องค์การแอ็คชั่นเอดได้จัดทำงานวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยเจอเหตุการณ์ความรุนแรงจากการคุกคามทางเพศบนท้องถนนของเมืองใหญ่ โดยในประเทศไทยมีผู้หญิง 86 เปอร์เซ็นต์ที่เคยถูกคุกคามทางเพศบนท้องถนน นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ ที่ระบุว่ากรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงมากถึง 217 จุดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง
“ในต่างประเทศมีความพยายามสร้างความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะในต่างประเทศว่า ในออสเตรเลีย และอังกฤษ มีระบบแจ้งเหตุผ่านสายด่วนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งความฉับไว และการติดตามผล ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้วต้องตอบสนองทันที” ผู้จัดการโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยกล่าว
ด้าน นายวสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโสระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า โครงการ First Pin ปักหมุด จุดเผือกนี้ จะเป็นประโยชน์กับสังคม เพราะหากทราบว่ามีความเสี่ยงอยู่ที่ไหน ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแบบ 4.0 ได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ ในการแก้ไขปัญหา โดย NECTEC มีเทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยในส่วนของแอพพลิเคชั่นไลน์ ที่ประชาชนสามารถแจ้งเหตุผ่านแชทบอทผ่านไลน์ได้ เวลาเจอปัญหา พบพื้นที่เสี่ยง ก็สามารถแจ้งเข้ามาได้เลย ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์จะประมวล และเก็บรวมรวมสภาพปัญหาต่างๆเข้ามาในระบบ โดยทุกคนสามารถใช้ได้ โดยแอดเฟรนด์ผ่านคิวอาร์โค้ด หรือ @traffyfondue และขอเชิญชวนทุกท่านหากเห็นความไม่ปลอดภัยของพื้นที่ไหนที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศ ขอให้ถ่ายรูปติดแอชแท็กทีมเผือกแล้วแจ้งเหตุปักหมุดมาในโปรแกรมของเราได้ทันที
ขณะที่นายยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการบริษัท ฉมา และฉมาโซเอ็น จำกัด กล่าวว่า การออกแบบมีส่วนช่วยได้ในการเปลี่ยนเมืองให้ปลอดภัย พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่เสี่ยงให้กลายเป็นเมืองปลอดภัย เช่น The High Line ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่เมื่อก่อนเคยเป็นแหล่งเสื่อมโทรม มีปัญหาอาชญากรรม พอได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้คนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน และมีการออกแบบให้มีพื้นที่ที่มีระยะมองได้ทั่วถึง มีร้านค้า โรงแรม มีกิจกรรมเป็นระยะๆ เวลาผู้คนจะเดินไปไหนจะอยู่ในสายตาคนรอบๆ ตลอดเวลา มีจุดเข้าออก ไม่เป็นทางตัน ทำให้มีคนมาใช้ มีชีวิตชีวา และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งคดีอาชญากรรมก็จะลดลง และสามารถพิสูจน์ว่าเปลี่ยนย่านที่เคยมีปัญหาให้ดีขึ้นได้ ส่วนประเทศไทยเอง มีลานกีฬาพัฒน์ เคหะคลองจั่น ซึ่งในอดีตค่อนข้างเป็นที่รกร้าง มีคนเสพยา แต่พอเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็มีประชาชนเข้ามาใช้อย่างสม่ำเสมอ
ด้านนางนงลักษณ์ เจ้า มารดาของเยาวชนรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหายที่เคยถูกคุกคาม กล่าวว่า ภัยคุกคามทางเพศเป็นเรื่องใกล้ตัว เเละเกิดขึ้นกับลูกสาวของตน โดยเมื่อปีที่ผ่านมาบุตรสาววัย 12 ปีถูกคุกคามทางเพศจากคนเเปลกหน้า ขณะที่เดินจากโรงเรียนกลับบ้าน เเต่ลูกสาวฮึดสู้ ป้องกันตัวเอง จนคนร้ายวิ่งหนีหายไป เเม้จะตกใจเเละหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เเต่ได้ตัดสินใจเเจ้งความดำเนินคดีเพื่อไม่ให้คนร้ายลอยนวลเเละไปก่อเหตุกับใครอีก ซึ่งสุดท้ายศาลสั่งจำคุก เพราะพบว่าคนร้ายเคยก่อเหตุในลักษณะนี้มาเเล้วหลายครั้ง จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนใช้เเอพพลิเคชั่น “ทีมเผือก” สำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่กทม. เพื่อช่วยกันลดการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะด้วย
ขณะที่ น.ส.สมโภช สง่าพล สมาชิกชุมชนซอยพระเจนซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่โครงการได้ร่วมสำรวจในครั้งนี้ กล่าวถึงจุดเสี่ยงของสะพานเขียวที่อยู่ในชุมชนว่า คนในชุมชนมีความกังวลเรื่องไฟส่องสว่าง ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีคนงานต่างด้าวมักจับกลุ่มมานั่งบนสะพาน บางครั้งก็ดื่มสุราไปด้วย ซึ่งคนที่ผ่านไปมารู้สึกได้ว่าถูกคุกคามทางสายตาจนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาสัญจรไปมา ส่วนตัวเห็นว่าพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่มีแสงสว่าง โล่ง แจ้ง ไม่มีคนมานอนข้างทางแบบนี้ และเชื่อว่าถ้ามีการติดตั้งไฟให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอจะทำให้คนสัญจรมาไปรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจขึ้น และหากมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ก็จะดีขึ้นอีก เพราะคนที่จะก่อเหตุจะไม่กล้าก่อเหตุ เป็นการป้องปรามอีกทางหนึ่ง
สำหรับวิธีการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์chatbotทีมเผือก แอดเฟรนด์ผ่านคิวอาร์โค้ด หรือ @traffyfondue ซึ่งเมื่อแอดเฟรนด์แล้ว และเข้าไปในหน้าแชทข้อความระบุจะขึ้นขั้นตอนการแจ้งปัญหา ดังนี้ 1. พิมพ์#ทีมเผือกพร้อมทั้งพิมพ์ข้อความปัญหา 2. ส่งภาพปัญหา เมื่อระบบขอรูปภาพ 3. ส่งตำแหน่ง (Share Location) เมื่อระบบขอพิกัด 4. ระบบจะส่งข้อความแจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/