‘ธีระเกียรติ’ โดนคนเดียว! ศาล รธน.เชือดพ้นความเป็น รมต.ปมถือหุ้นสัมปทานรัฐ เหตุ ‘เมีย’ ซื้อหุ้น บ.ปูนซีเมนต์ไทยฯเพิ่ม 800 หุ้น เป็นลักษณะต้องห้ามตาม รธน. ห้ามดำรงตำแหน่ง 2 ปี ส่วน ‘หม่อมปนัดดา-ไพรินทร์-สุวิทย์’ รอด เหตุคงไว้ซึ่งหุ้น แต่ไม่ได้ซื้อเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดฟังคำวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อกระทรวงเดิม) นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกร้องที่ 1-4 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) กรณีถือหุ้นสัมปทานของรัฐหรือไม่ โดย ม.ล.ปนัดดา นายไพรินทร์ และนายธีระเกียรติ มาศาล ส่วนนายสุวิทย์ มิได้มา
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ถูกร้องที่ 4 สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 และห้ามดำรงตำแหน่ง 2 ปีนับตั้งแต่ลาออกจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2562 เนื่องจากศาลวินิจฉัยคู่สมรสซื้อหุ้นบริษัท ปูนซีเมนต์ไทยฯ ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาสัมปทานรัฐ เพิ่มเติม 800 หุ้น ในช่วงนายธีระเกียรติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยศาลเห็นว่า การซื้อหุ้นที่เป็นลักษณะต้องห้ามดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง อนุสอง
ส่วนข้อโต้แย้งว่า การที่คู่สมรสนายธีระเกียรติถือหุ้นดังกล่าวเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นทั้งหมดของบริษัท และไม่มีอำนาจครอบงำกิจการนั้น ศาลเห็นว่า การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ว่าผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจบริหาร หรือครอบงำกิจการก็ตาม แต่การถือหุ้นของคู่สมรสนายธีระเกียรติเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง อนุสอง แล้ว แม้จะขายหุ้นทันทีหลังรับทราบการแก้ข้อกล่าวหากับ กกต. แล้วก็ตาม ก็ไม่อาจเป็นผลการลบล้างการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้
ส่วนข้อโต้แย้งว่า คู่สมรสของนายธีระเกียรติมิได้มีเจตนาซื้อหุ้นเนื่องจากไม่ทราบมาก่อนว่า หุ้นบริษัท ปูนซีเมนต์ฯ เป็นหุ้นสัมปทานของรัฐนั้น ศาลเห็นว่า ก่อนการลงทุนบริษัทใด ผู้ลงทุนย่อมศึกษาข้อมูลพื้นฐานว่า บริษัทนั้นน่าสนใจลงทุนหรือไม่ ต้องพิจารณาการดำเนินการของธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน และคุณภาพในการทำกำไร และสถานะการเงินของบริษัทเป็นอย่างไร ดังนั้นข้อโต้แย้งดังกล่าวรับฟังไม่ได้ หากยินยอมหรือให้มีการอ้างว่าไม่รู้ จะไม่เป็นการมุ่งใช้ป้องกันการขัดกันแห่งประโยชน์ และไม่อาจบรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้
ส่วน ม.ล.ปนัดดา นายไพรินทร์ และนายสุวิทย์ ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การถือครองหุ้นก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยไม่ได้ซื้อเพิ่มเติมนั้น แม้คงไว้ซึ่งหุ้นหลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วก็ตาม ไม่ถือเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง อนุสอง ดังนั้นไม่มีเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1-3 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง อนุห้า
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 กกต. มีมติว่า การถือครองหุ้นของรัฐมนตรีทั้ง 4 ราย ได้แก่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ ถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐ เข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) และขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยดังกล่าว
โดยกรณีนี้เกิดขึ้นจากที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นร้องเรียน กกต. ให้ตรวจสอบ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวมหมวกเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอีกใบ) ถือครองหุ้นในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จำนวน 9 หมื่นหุ้น ซึ่ง GPSC เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมกับบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญากับสัมปทานรัฐ
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ ถูกร้องเรียนว่า ถือครองหุ้นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จำนวน 6 พันหุ้นเศษ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ถูกร้องเรียนว่า ถือหุ้นสัมปทานบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG จำนวน 5 พันหุ้น
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ถูกร้องเรียนว่า ถือหุ้นบริษัท GPSC จำนวน 5 หมื่นหุ้น ซึ่ง GPSC เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมกับบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญากับสัมปทานรัฐ นอกจากนี้ยังถือหุ้นบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จำนวน 2.4 แสนหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 5 พันหุ้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) 6 หมื่นหุ้น บริษัท ไทยออย จำกัด (มหาชน) 4 หมื่นหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3 แสนหุ้น บริษัท บ้านปู พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) 1 หมื่นหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 2.6 หมื่นหุ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ศาล รธน.รับคำร้อง กกต.ปม4รมต.รบ.บิ๊กตู่ ถือครองหุ้นสัมปทานรัฐ-สั่งแจงใน 30 วัน
วัดบรรทัดฐาน!ขุดคำวินิจฉัยปม‘ปนัดดา’ ถือหุ้นสัมปทานรัฐ กกต.ชุดเดิมตีตก-ชุดใหม่ฟัน?