คณะทำงานเพื่อการสมรสฯ ยื่นจม.เปิดผนึกถึง รมว.ยุติธรรม จี้ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมแก้ไขกฎหมายครอบครัวมรดก ขยายสิทธิแต่งงาน เปลี่ยนคำ ‘สามีภรรยา’ เป็น ‘คู่สมรส’ เพื่อสิทธิเสมอภาคเหมือนชายหญิง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 22 ส.ค. 2562 คณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน องค์กร และบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ รวม 80 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยุติธรรม) เพื่อพิจารณายกเลิก ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต พ.ศ. ...และขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครอบครัวมรดกในบรรพ 5 และบรรพ 6 ประมวงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบครอบครัวตามธรรมชาติหรือการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม สิทธิดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองไว้ในตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948,กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966,กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ค.ศ.1966 รวมทั้งในหลักการยอกยาการ์ตาหรือหลักการว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ก็ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 24 เป็นต้น
ปัจจุบันสังคมไทยมีคู่ชีวิตเพศเดียวกันและคนข้ามเพศจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวเฉกเช่นคู่รักชายหญิงทั่วไป แต่สถานภาพของคู่ชีวิตเพศเดียวกันและคนข้ามเพศกลับไม่มีกฎหมายรับรอง ทำให้บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีพึงได้
ภาคประชาสังคมได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว และได้มีการประชุม ทำงานวิจัย ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมทำงานกับกลไกรัฐสภา ปีพุทธศักราช 2555 ยื่นข้อเสนอให้กับรัฐผ่านกระบวนการกลไกสหประชาชาติทั้ง UPR ICCPR CEDAW ทำงานร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อหาทางออกที่เกิดประโยชน์แก่ชุมชนความหลากหลายทางเพศมากที่สุด จนมีการตั้งคณะทำงานเพื่อการสมรสเท่าเทียม และเสนอทางออกของเรื่องนี้ผ่านการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5และ6 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิทยานิพนธ์ดีเด่นของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดย ชวินโรจน์ธีรพัชรพร ซึ่งได้ศึกษาทั้งแนวทางจากต่างประเทศ ความเป็นไปได้จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และความต้องการของชุมชนความหลากหลายทางเพศ โดยจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ... เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถสมรสกันได้โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
ขณะเดียวกัน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ คู่ชีวิต พ.ศ. ...ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการทรัพย์สินมรดกและการฟ้องแทนในคดีอาญาได้เท่านั้น และร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดของการใช้ชีวิตคู่ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาลและการได้รับสวัสดิการ (กรณีที่อีกฝ่ายมีสิทธิที่ได้รับจากการทำงาน) สิทธิในกรณีคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมทั้งได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้หน่วยงานต้นสังกัดจัดเวทีรับความความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขึ้นในวันที่ 16 ส.ค. 2562 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นั้น
คณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ร่วมกับองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 80 รายชื่อตามที่ปรากฏด้านล่างนี้
ขอเรียนว่า (ร่าง) พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ ....ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีเนื้อหากฎหมายที่เลือกปฏิบัติกับบุคคลหลากหลายทางเพศ เนื่องจาก พลเมืองหญิง ชาย ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีสิทธิสวัสดิการครอบครัวมากกว่า พลเมืองกลุ่มหลากหลายทางเพศ จึงใคร่ขอเสนอ ให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณา ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ...และขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครอบครัวมรดกในบรรพ 5 บรรพ 6 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี
ด้วยเหตุที่ ปพพ. มีเงื่อนไขแห่งการสมรส ในมาตรา 1448 ว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์...” ซึ่งเป็นเงื่อนไขหวงห้ามต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลุ่มคนรักสองเพศ กลุ่มคนข้ามเพศ กลุ่มนอนไบนารีฯลฯ มิให้เข้าถึงสิทธิการสมรสตาม ปพพ. ส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้รับสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีที่เกิดจากการเป็นคู่สมรส ทั้งจาก ปพพ. กฎหมายอื่น และระเบียบข้อบังคับภาครัฐและภาคเอกชน ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
คณะทำงานฯ จึงขอเสนอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครอบครัวมรดก ขยายสิทธิการสมรส โดยการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศ (Gender Neutral) ซึ่งมีถ้อยคำที่กำหนดในกฎหมายครอบครัว มรดก บรรพ 5 และ บรรพ 6 ปพพ.แล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน คือ เปลี่ยนคำว่า “ชายและหญิง” เป็น “บุคคลสองคน” “สามีภริยา” เป็น “คู่สมรส” “บิดามารดา” เป็น “บุพาการี” ในบทบัญญัติของ ปพพ.บรรพ5และบรรพ 6 ทุกมาตรา เพื่อให้บุคคลทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกรสนิยมทางเพศ ได้รับสิทธิความเสมอภาค ความยุติธรรม ในสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรี อันพึงมีพึงได้จากการสมรส เหมือนคู่สมรสชายหญิงทั่วไป เช่น สิทธิในสวัสดิการภาครัฐและภาคเอกชน สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการดำเนินการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ อันสืบเนื่องจากการเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย และ สิทธิในการมีศักดิ์ศรีในฐานะ คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ปพพ.และตามกฎหมายอื่นๆ ในราชอาณาจักรไทย เป็นต้น ซึ่งการขยายสิทธิการสมรส ดังกล่าว ไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ณ ปัจจุบันของ คู่สมรส ชายหญิงทั่วไป และ สิทธิหน้าที่ของบิดามารดา และ บุตร ในปัจจุบันแต่อย่างใด .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/