ป.ป.ช. ชี้มูลอาญา ‘จุฬารัตน์ นิรัติศยกุล’ ช่วงรักษาการเลขาธิการ สนง.กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ส่วนอดีตหัวหน้าฝ่ายอำนวยการฯ โดนผิดวินัย ปมจัดจ้างพีอาร์กองทุนฯโดยมิชอบ เจ้าตัวแจงแค่จ้างมูลนิธิ LDI สร้างความรับรู้เข้าใจในหมู่ปชช. แต่เอกสารรายงานประชุมคาดเคลื่อนทำให้ถูกเหมารวมเป็นการจ้างประชาสัมพันธ์-ยันไม่มีทุจริต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล เมื่อครั้งรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรกร และนายกอบเกียรติ ศรีคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีถูกกล่าวหาว่า จัดจ้างโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรโดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่านางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนนายกอบเกียรติ ศรีคราม มีมูลความผิดทางวินัย ฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผน วิธีปฏิบัติของกองทุน ฐานประมาท เลินเล่อ เป็นเหตุให้กองทุนฟื้นฟูและ พัฒนาเกษตรกรได้รับความเสียหาย ตามระเบียบคณะกรรมการบริหาร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 26 วรรคหนึ่ง (6) และข้อ 26 วรรคสอง (2)
ความคืบหน้ากรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณา โทษทางวินัย และส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว
อนึ่ง กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเป็นเพียงกระบวนการขั้นต้น ยังเหลือในชั้นอัยการ และชั้นศาล คดียังไม่ถือว่าสิ้นสุด เนื่องจากศาลยังไม่มีคำพิพากษา
สำหรับนางจุฬารัตน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2548-2551 รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรกร และเคยเป็นเลขานุการคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในช่วงที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ (อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เป็นประธานคณะกรรมการฯ
ขณะที่ นางจุฬารัตน์ ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่ใช่การจัดจ้างโครงการประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด แต่เป็นการจ้างมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI เพื่อสร้างความรับรู้กับประชาชนให้เข้าใจในการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เหมือนจ้างเอกชนประชาสัมพันธ์งาน เพราะมูลนิธิฯ ไม่สามารถแสวงหาผลกำไรตรงนี้ได้ ส่วนกรณีที่เป็นประเด็นกับทาง ป.ป.ช. นั้น ส่วนตัวเข้าใจว่าเพราะมีผู้ไปร้องถึงอำนาจของรักษาการเลขาธิการสำนักงานฯในการจัดซื้อจัดจ้างในสัญญาเกิน 9 ล้านบาท ว่าเป็นการทำหน้าที่เกินกว่าอำนาจของรักษาการเลขาธิการฯหรือไม่
นางจุฬารัตน์กล่าวต่อว่า "ส่วนสาเหตุที่ ป.ป.ช.รับเอาข้อร้องเรียนนี้ไปพิจารณา ก็เพราะเขาดูจากรายงานการประชุม ซึ่งในรายงานการประชุมนั้นจะมีวาระการพิจารณาแผนประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าหากลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า เป็นการลงมติให้ไปจัดทำแผนงานสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ดังนั้น ที่ไปที่มาก็มาจากความคลาดเคลื่อนในการจัดทำเอกสารดังกล่าว จนทำให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ทั้งๆที่มันไม่ใช่"
"จริงๆสิ่งที่เราได้ชี้แจงกับ ป.ป.ช.ไปก็คือ ว่าหากไม่ได้มีการอนุมัติตามที่ ป.ป.ช.สงสัย หรือตั้งข้อสังเกตตามที่ได้มีการฟ้องในการประชุมคราวต่อไป ซึ่งต้องมีรายงานตลอดว่าผลการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร กรรมการก็ต้องมีการท้วงติงไปว่ามีประเด็นที่ทำไม่ชอบเกิดขึ้น เรายืนยันว่าในการทำงานนั้น รัฐไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด และประชาชนเองก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองทุนฯด้วย ซึ่งเราสามารถชี้แจงได้ในประเด็นเรื่องขั้นตอนที่บกพร่อง และขอยืนยันได้ว่าไม่มีเรื่องทุจริตแต่อย่างใด" นางจุฬารัตน์กล่าว
พร้อมระบุว่า "ขั้นตอนหลังจากนี้นั้นดิฉันจะนำเอาข้อมูลไปชี้แจงต่ออัยการเพื่อยืนยันในข้อเท็จจริงต่อไป"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ httpแs://www.facebook.com/isranewsfanpage/