"สมชาย" เผยไทยประสบความสำเร็จปราบปรามค้ามนุษย์ หวังทุกภาคส่วนเดินหน้าต่อ นโยบาย กม.ครอบคลุม "เยียวยาเหยื่อ" ได้รับฟื้นฟูศักดิ์ศรี ป้องกันกลับสู่วงจรเดิม
วันที่ 16 ส.ค. 2562 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมกับสำนักงานกฎหมายเอส อาร์ จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง เหลียวหลังแลหน้ากับอนาคตผู้ถูกค้ามนุษย์ : วันที่ประเทศไทยไม่มีใบเหลืองและไม่มีใครมาเฝ้าระวัง ณ ห้องประชุมแกรนด์รัชดา บอลลูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวถึงปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคและในอดีตมีการค้ามนุษย์ของกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจำนวนมาก แต่ในยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินมาตรการอย่างจริงจังในการปราบปรามปัญหาดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ
หลังจากนั้นมีปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับความสำเร็จพอสมควรในการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยเฉพาะกิจการประมง อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การที่ประเทศไทยเอาจริงกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งสองประเภทนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากแรงกดดันของนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ หรือประเทศคู่ค้า (สหรัฐอเมริกและสหภาพยุโรป) โดยไม่ได้มาจากการริเริ่มของประเทศไทย ถึงแม้ภาคประชาสังคมหรือสื่อมวลชนจะเรียกร้องในเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยยังถือว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องต้องทำเป็นอันดับแรก
“สังคมไทยต้องตระหนักถึงปัญหานี้ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งการค้ามนุษย์เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงมาก คือ การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเลือดเนื้อชีวิต สิทธิเสรีภาพ ร่างกายของมนุษย์ด้วยกันเอง”
ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวต่อว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะได้รับความสำเร็จระดับหนึ่งของการปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องในเชิงนโยบายและกฎหมาย มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายประการ แต่ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางปฏิบัติอยู่มาก เจ้าหน้าที่บางหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังปราศจากความเข้าใจ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ในหน่วยงานนั้น ทำให้ขาดความพร้อมในหลายเรื่อง
“หน่วยงานรัฐขาดความพร้อมในเรื่องความเข้าใจ ความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ กำลังคน และงบประมาณ ซึ่งภาคประชาสังคมพยายามให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่อีกด้านหนึ่งผลักดันตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ”
นายสมชาย ยังกล่าวถึงความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ มีความคืบหน้าพอสมควร แต่มีประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องต้องร่วมมือกันต่อไป คือ การฟื้นฟูเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือผู้เสียหาย หรือผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เห็นว่าการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ต้องไม่มุ่งหมายทำให้ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะของการบันทึกปัญหาการค้ามนุษย์ หน่วยงานต่าง ๆ มีผลงานชิ้นโบว์ดำโบว์แดง เจ้าหน้าที่ได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเท่านั้น แต่นโยบายกฎหมายเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ต้องครอบคลุมเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้กลับสู่สถานะเดิม ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือสังคม และไม่ให้กลับมาเป็นเหยี่อของการค้ามนุษย์อีก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/