พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. รับลูก ศวปถ. สั่งเพิ่มมาตรการสอบสวนอุบัติเหตุรถยางแตก หากพบปัญหาจากมาตรฐานให้ขยายผลเอาผิดถึงผู้ผลิต
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือ เลขที่ 0011.25/2494 ลงวันที่ 30 ก.ค. 2562 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการสอบสวนกรณีเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์ยางแตกหรือยางระเบิด ถึง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งานความมั่นคง (รอง ผบ.ตร.(มค)) ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในสายงาน งานสืบสวนสอบสวน (สส) และงานความมั่นคง (มค) และ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1-9 (ผบช.ภ 1-9) ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) และ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (ผบช.สพฐ.ตร.) แจ้งให้พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนกรณีอุบัติเหตุจากรถยนต์ยางแตกหรือยางระเบิด
ระบุว่า สืบเนื่องจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มีข้อเสนอเพิ่มมาตรการการสอบสวนอุบัติเหตุ กรณีรถยางแตกหรือยางระเบิด เพิ่มเติมจากมาตรการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการอยู่ ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีอุบัติเหตุจากรถยนต์ยางแตกหรือยางระเบิด ให้พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ร่วมกันสอบสวนหาสาเหตุอย่างละเอียด โดยเฉพาะคุณภาพยาง วัน เดือน ปีที่ผลิต เมื่อพบว่าเป็นยางที่ไม่มีคุณภาพ ให้สอบสวนขยายผลไปถึงแหล่งผลิตยางรถยนต์ดังกล่าวด้วย และในการดำเนินคดีกับผู้ผลิตยางรถยนต์ที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 31 ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กำหนดกิจการที่เป็นอัตรายต่อสุขภาพ (กิจการอื่นๆ การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ หรือผลิตภัณฑ์จากยาง) โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว หากการกระทำดังกล่าวเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา 271 และมาตรา 272 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 20 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 ให้แจ้งข้อหาดังกล่าวให้ครบถ้วนด้วย (ดูหนังสือประกอบ)
ขณะที่ นายธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า การเสนอเพิ่มมาตรการการสอบสวนอุบัติเหตุ กรณีรถยางแตกหรือยางระเบิด ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรับจ้างแกะดอกยางล้อรถและปลอมแปลงตัวเลขวันที่อายุของล้อยาง ซึ่งเป็นนำยางที่หมดอายุการใช้งานไปแล้วมาทำใหม่ให้เป็นยางเปอร์เซ็นต์ ประกอบกับพบข้อมูลสถิติว่าอุบัติเหตุหลายครั้งเกิดมาจากการระเบิดหรือแตกของล้อยาง จึงเห็นว่า การสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นจะต้องพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับยางรถด้วย เพื่อให้ทราบว่ามาตรฐานของยางรถเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุหรือไม่อย่างไร และเพื่อขยายผลต่อไปยังผู้ผลิตที่กระทำผิดได้
"ยางแตกหรือยางระเบิดนั้น มีความสัมพันธ์กับคุณภาพของยางและเรื่องน้ำหนักในการบรรทุกโดยตรง การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพื่อที่จะหาต้นเหตุได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุยางแตกและสามารถเอาผิดกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย หากสาเหตุเกิดจากมาตรฐานของยาง และที่สำคัญคือ สามารถนำไปสู่การป้องกันอุบัติจากต้นตอของปัญหาได้ทางหนึ่ง" นายธนะพงศ์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/