'ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร' โชว์ข้อมูล ปภ.อัดงบฯ จัดซื้อ 'รถดับเพลิง' จากเอกชนอื้อ ผู้ชนะประมูลต่ำกว่าราคากลางเล็กน้อย-บ.เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ฯมากสุด ด้าน 'พล.อ.อนุพงษ์' โต้เป็นไปตามความจำเป็น พบทุจริตเเจ้งได้ หากตนเองไม่ทำ เชิญเล่นงานทั้งวินัย-อาญา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 ที่อาคารทีโอที แจ้งวัฒนะ ที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราว มีการประชุมร่วมรัฐสภาระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นการอภิปรายนโยบายรัฐบาลต่อเนื่องจากวันที่ 25 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งถึงการจัดซื้อรถดับเพลิงของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่อาจมีความไม่โปร่งใส โดยกล่าวถึงการจัดซื้อดังกล่าวว่า ปี 2560 ปภ.ได้รับงบประมาณ 4,380 ล้านบาท ปี 2561 ได้รับงบประมาณ 4,335 ล้านบาท แต่งบประมาณไม่ถูกนำไปช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งหรือแก้ปัญหาของประชาชน แต่กลับพบว่า ร้อยละ 80 ของงบประมาณ นำไปจัดซื้อรถดับเพลิง
โดยปี 2561 จัดซื้อรถดับเพลิงไปกว่า 4,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 80 ของงบประมาณ ขณะที่ ปี 2562 จัดซื้อรถดับเพลิงไปประมาณ 5,000 ล้านบาท จากงบประมาณในปีนั้นทั้งหมด 7,446 ล้านบาท โดยมีบริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ สยาม (จำกัด) เป็นบริษัทเอกชนผู้ได้รับงานเพียงรายเดียว
ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยก 3 ตัวอย่างงานที่มีการประกวดราคาของ ปภ. เพิ่มเติม ได้แก่ การประกวดราคารถปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัยพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 คัน งบประมาณ 228.50 ล้านบาท ประมูล 228.21 ล้านบาท ลดราคา 2.9 แสนบาท มีบริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ สยาม (จำกัด) เป็นผู้ได้รับงาน นอกจากนี้ยังมีการประกวดราคาจัดซื้อยานยนต์ดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์ระยะไกล 5 เครื่อง งบประมาณ 222.50 ล้านบาท แต่ประมูล 222.275 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2.2 แสนบาท ซึ่งสงสัยว่ามีการล็อกสเปคหรือไม่
อีกทั้งยังมีการประกวดราคาจัดซื้อรถเครื่องกำเนิดไฟ ขนาดไม่น้อยกว่า 200KVA 20 คัน งบประมาณ 251.79 ล้าน ประมูลเหลือ 178 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 74 ล้านบาท มีบริษัท ยูซีไอคอร์ปอเรชัน จำกัด เป็นผู้ได้รับงาน จึงตั้งคำถามไปยังพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.)ว่า ขณะนี้มีการสอบสวนกรณีตั้งราคาต่ำกว่าราคากลางแล้วหรือไม่
ด้านนายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวชี้แจงถึงความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยว่า ปัจจุบันมีภัยจำนวนมากและหลายรูปแบบ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย อัคคีภัย และภัยที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น แผ่นดินไหว ทั้งหมดนี้ต้องมีการเตรียมการ โดยประเทศไทยมี 76 จังหวัด ไม่นับกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีความพยายามจัดยุทโธปกรณ์ให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด ทั้งคนและอปกรณ์ โดยจัดตั้งศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยทั่วประเทศ 18 แห่ง เพื่อให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด
ทั้งนี้ มีรถหลายประเภท เช่น รถดับเพลิง รถสูบน้ำระยะไกล เรือ แต่จะไว้ที่ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยระดับเขต เพื่อเวลามีเหตุการณ์ในเขตใด เขตนั้นจะช่วยเหลือกัน แต่หากเป็นภัยขนาดใหญ่ เช่นในภาคใต้ จะใช้ปภ.เขตภาคใต้รวมกันแก้ไขปัญหา โดยการจัดซื้อที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปตามความจำเป็น ต้องไม่มากเกินไป เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่มี เช่น เหตุการณ์ถ้ำหลวง เราไม่มีเครื่องมืออัดอากาศเข้าไป หรืออุปกรณ์ดับเพลิงอาคารสูง จังหวัดใกล้เคียงยังต้องพึ่งพากรุงเทพฯ
"การทุจริตนำมาได้เลย ถ้าผมไม่ทำ ท่านเล่นงานผมได้ เพราะท่านมีหลักฐานหมด ไม่ว่าจะฮั้ว ผมดำเนินการแน่นอน ถ้าผมไม่ทำ ท่านเล่นงานผมทั้งวินัยและอาญา" รมว.มหาดไทย กล่าว .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
ออกประกาศ 10 ฉบับรวด! ปภ.จัดซื้อรถ-เครื่องมือบรรเทาสาธารณภัยอีก 4,000 ล.
ทำสัญญาเรียบร้อย! รถดับเพลิง กู้ภัย ปภ. 3.3 พันล.- 2 บ.เสนอราคาด้วยกัน 9 โครงการ
รายใหญ่ตัวจริง! บ.เชสฯกวาดบิ๊กลอตจัดซื้อ ปภ. 38 สัญญา 1.2 หมื่นล.