อดีตผู้ว่าฯ เเบงก์ชาติเเนะรัฐบาลใหม่กระตุ้น ศก. ใช้นโยบายการเงินการคลัง ชี้ไทยมีเสถียรภาพค่อนข้างดี อัตราเงินเฟ้อยังไม่สูง จ้างงานไม่เกิดปัญหา ยกเว้นเติบโตชะลอตัว กระทบกระจายรายได้ กิจการขนาดกลาง-เล็ก ผู้มีรายได้น้อย ย้ำประมาทไม่ได้ เดินหน้ามาตรการต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความยั่งยืน ไร้ทุจริต
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2562 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ควรแก้ไขปัญหาส่วนใดก่อนนั้น โดยระบุว่า ระยะสั้น พบการเติบโตชะลอตัวลง ธปท. ปรับลดอัตราการเติบโตปีนี้จาก 3.8% เหลือเพียง 3.3% ซึ่งแน่นอนว่า การเติบโตลดลงเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทุกขนาด ประกอบกับเหตุพิพาทการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การค้าของโลกชะลอตัว การส่งออกของไทยอาจเติบโตลดลงไปด้วย
สิ่งที่รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นนโยบายการเงินการคลัง โดยเฉพาะนโยบายการคลังอาจจะใช้ได้ในระดับหนึ่งในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนนโยบายการเงิน สภาพคล่องในระบบการเงินมีมากพอสมควร แต่จะต้องพยายามดูความสมดุลกับเสถียรภาพด้านการเงินไม่ให้กระทบระยะยาว ทั้งนี้ โดยทั่วไป เครื่องมือนโยบายเศรษฐกิจ ระยะสั้น เป็นนโยบายการเงินการคลังที่จะช่วยได้ ส่วนโจทย์เชิงโครงสร้างต้องแก้นโยบายเศรษฐกิจจริง ไม่ว่าจะเป็น การผลิตภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม หรือนโยบายต่าง ๆ ซึ่งบางจุดอาจมีการบิดเบือนอยู่ ต้องแก้ไขให้ดี
เมื่อถามว่ามีความกังวลจุดใดมากที่สุด อดีตผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ในเชิงเสถียรภาพทั้งในและต่างประเทศ ประเทศไทยจะมีเสถียรภาพค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังไม่สูง มีระดับการจ้างงานค่อนข้างดี แต่เรื่องการเจริญเติบโตชะลอตัว กระทบการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้ในระยะสั้นต้องมีมาตรการประคับประคอง แต่ควรคิดโจทย์ระยะยาวเพื่อความยั่งยืน และไม่กระทบศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วย
ทั้งนี้ นโยบายของ ธปท. ที่ดำเนินการนั้น ต้องดูวัตถุประสงค์ในด้านต่าง ๆ และเครื่องมือที่มีอยู่ว่า พยายามใช้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ไข เช่น นโยบายดอกเบี้ย โดยตามกรอบนโยบายการเงินปัจจุบัน วัตถุประสงค์หลัก พยายามดูแลเสถียรภาพภายในประเทศ แน่นอนว่า อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ในเวลานี้ แต่จะมีเรื่องศักยภาพทางเงินและด้านอื่น ๆ เช่น ภาระหนี้ครัวเรือน ภาระสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งมีความพยายามใช้เครื่องมืออื่นประกอบ เช่น กฎเกณฑ์การใช้สินเชื่อ
“นโยบายการเงินการคลัง หากเกิดผลดีทั้งระยะสั้นและยาว ถือว่าสมบูรณ์แบบ แต่หากได้เพียงระยะสั้น ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วหายไป จะเสียของ โดยเฉพาะนโยบายการคลังต้องคิดอ่าน เพราะถึงแม้การคลังของไทยจะดี แต่ประมาทไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีรายจ่ายสูงประมาณ 18% ของจีดีพี ขณะที่รายได้มีประมาณ 15% ฉะนั้นแต่ละปียังมีการขาดดุล”
ดร.ประสาร ยังกล่าวว่า เมื่อดูถึงอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา พบด้านรายจ่ายเติบโตสูงขึ้นประมาณ 6% ขณะที่รายได้เติบโตสูงขึ้น 5% ทำให้ระดับอยู่แค่ 40% ของจีดีพี หมายความว่า ยังมีพื้นที่หรือมีกำลังอยู่ แต่กำลังที่ว่านั้น เปรียบเหมือนเราเล่นกีฬา เวลาจะปล่อยกำลังออกมาใช้ ต้องดูว่าใช้แล้วผลเป็นอย่างไรและวันข้างหน้าได้อะไรกลับคืนมาหรือไม่ ซึ่งช่วงระยะสั้นอาจพอทำได้ ยกเว้นหากประมาทหรือใช้เรื้อรัง จะสร้างปัญหาระยะยาว
"ฉะนั้นหลักการใช้มาตรการการคลังต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ของเครื่องมือนั้น ๆ ด้วย ตลอดจนคำนึงถึงประสิทธิผลและความยั่งยืน โดยต้องไม่ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น มิฉะนั้นจะทำลายเครื่องมือดังกล่าวทั้งหมด"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/