‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ถูกเลื่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกหนึ่งปี ให้กลับมาทำข้อมูลเพิ่ม ‘สุรพงษ์’ ชี้ชุมชนดั้งเดิม-ขอบเขตลด ต้นเหตุวืด ต่างชาติจับตาแก้ปัญหา ‘กะเหรี่ยง’ ยันต้องได้รับสิทธิชุมชนดั้งเดิม มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ
ภายหลังที่ประชุมมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน มีมติยังไม่พิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่กว่า 2.9 ล้านไร่ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ในปี 2562 (อ่านประกอบ:“ยูเนสโก” เลื่อนรับรองแก่งกระจานมรดกโลกปี 63)
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าหลังจากนี้ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนตามที่คณะกรรมการมรดกโลกให้การบ้านทำข้อมูลเพิ่มเติม โดยต้องเจรจาพูดคุยกับประเทศเมียนมาในเรื่องขอบเขตผืนป่าติดต่อระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีในการช่วยกันรักษาป่าทั้งหมดไว้
ขณะเดียวกัน ขอบเขตพื้นที่ที่ลดลงร้อยละ 15 ซึ่งห่างจากแนวชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตร ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุเอกสารที่นำเสนอต่อคณะกรรมการเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ปรับแก้ตามการเปลี่ยนแปลง โดยยังใช้ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเดิมอยู่ ทั้งที่พื้นที่ลดลงเหลือร้อยละ 85 จึงถูกตั้งถามถึงความอุดมสมบูรณ์นั้นยังเหมือนเดิมหรือไม่
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข้อห่วงใยเรื่องชุมชนในพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยยืนยันตลอดว่า มีการดูแลกะเหรี่ยงอย่างดี แต่ทั่วโลกกลับเห็นว่าเรายังจัดการไม่ดี ฉะนั้นต้องกลับมาคิดกันใหม่ โดยทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีชีวิตที่ดีและยอมรับการนำกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกัน
“ ‘ร่วมกัน’ คือ ต้องเริ่มตั้งแต่ชาวบ้านร่วมเสนอด้วยได้หรือไม่ เพราะมรดกโลกไม่ใช่มรดกของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องของประเทศไทย โดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมืองอย่างกะเหรี่ยงในพื้นที่ดั้งเดิม ซึ่งศาลปกครองสูงสุด ใช้คำว่า ‘ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม’ ตามรัฐธรรมนูญ”
เมื่อถามว่า หากกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กะเหรี่ยงต้องออกจากพื้นที่หรือไม่ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กะเหรี่ยงต้องอยู่ในพื้นที่และอยู่อย่างดีตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกดำเนินการ ถึงแม้จะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ธรรมชาติไม่ได้หมายถึง ป่า สัตว์ป่า ดิน และน้ำ เท่านั้น แต่รวมถึง ‘คนดั้งเดิม’ ด้วย ดังนั้น วิถีดั้งเดิมต้องรักษาไว้
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่ประสบความสำเร็จในการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เพราะติดขัดเรื่องกะเหรี่ยง โดยเฉพาะกรณี ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ หายตัวไป ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัว จึงไม่มั่นใจว่าจะดูแลสัตว์ป่าได้หรือไม่ ดังนั้นประเทศไทยต้องดำเนินการให้ต่างประเทศมั่นใจว่า ทุกอย่างในเขตอุทยานต่าง ๆ นั้น จะได้รับการดูแลทั้งหมด
“สิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นหลักและถูกพูดถึงเรื่องนี้มาตลอด ฉะนั้นรัฐต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยมอบสิทธิมนุษยชนตามสิทธิดั้งเดิมแก่ชาวบ้าน” นายสุรพงษ์ กล่าว .
อ่านประกอบ:5 ก.ค.ลุ้นไทยดันป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก -กะเหรี่ยงพื้นที่ยื่นค้าน
เผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ศาลปค.สูงสุด ให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ 'ปู่คออี้' กับพวก คนละ 5 หมื่น
“ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” บันทึกการต่อสู้ของคนเล็กๆ ที่ห่างไกลสุด
ภาพประกอบ:สำนักข่าวสิ่งเเวดล้อม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/