องค์การแพลนฯ ชู 42 โรงงานอุตสาหกรรมประมง ต้นแบบจ้างงาน ‘ต่างด้าว’ เป็นธรรม เผยข้อมูล ปี 61 มีเด็กกว่า 2 แสนคน ไม่ได้ศึกษาทั้งในและนอกระบบ ‘ผอ.มูลนิธิ LPN’ ยันยังมีอีกจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงโอกาส แม้รัฐให้เรียนได้ระดับสูงสุด
วันที่ 29 มิ.ย. 2562 องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation (LPN) จัดเวทีเสวนา “จากอวนสู่ปาก” From Net to Napkin ณ ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย กรุงเทพฯ
น.ส.ยุภาพร บุญติด ผอ.ฝ่ายโครงการ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวมีส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีปัญหาในการจ้างงานไม่เป็นธรรม ลูกหลานและผู้ติดตามไม่ได้รับบริการขั้นพื้นฐาน เข้าไม่ถึงการศึกษา ใช้แรงงานเด็ก และการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง และประมงต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการและคณะทำงานด้านแรงงานต่างด้าว ปี 2561 พบว่า มีเด็กต่างด้าวกว่า 2 แสนคน เข้าไม่ถึงการศึกษา ทั้งในและนอกระบบ
ด้าน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยมีประมาณ 3 ล้านคน เฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา กัมพูชา และลาว มีประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่รวมทั้งหมดทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสาร มีประมาณ 4-5 ล้านคน เบื้องต้น กระทรวงแรงงานมีมาตรการเข้มข้น กรณีไม่มีเอกสารใบอนุญาตทำงานต้องกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่กันอย่างมีความสุข เกิดการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย และให้มองพวกเขาเป็นคนมีศักยภาพในการเข้ามาสร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย
ขณะที่ปัจจุบันปัญหาที่พบมาก คือ การศึกษา โดยรัฐบาลมีนโยบายให้เด็กเข้าเรียนในระบบได้ แต่ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสนี้ เนื่องจากข้อจำกัดทางครอบครัวอยู่ห่างไกล และหากเข้าถึงการศึกษา ตั้งคำถามว่าจะส่งเสริมไปมากแค่ไหน ซึ่งตามกฎหมาย เด็กเหล่านี้สามารถเรียนได้ถึงระดับสูงสุด อย่างไรก็ตาม เมื่อยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเรียนอยู่ในระบบการศึกษาไทยได้ ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาของแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ หรือลดความเสี่ยงล่วงละเมิด มองว่า เด็กสามารถอยู่ตรงไหนก็ได้ หากมีความปลอดภัย เช่น ศูนย์การเรียนแคมป์ก่อสร้าง ศูนย์เรียนในสวนยางพารา หรือองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ
ขณะที่ นางวิชาดา จอร์จ ผอ.สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่รัฐจะมุ่งมั่นให้การดูแลแรงงานฝีมือต่ำจากพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมประมงนั้น เราต้องขอบคุณชาวประมงในปัจจุบันที่ต้องทนทุกข์และกว่าจะจ้างแรงงานต่างด้าวได้หนึ่งคน มีขั้นตอนจำนวนมาก เพื่อให้ได้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย เพราะแรงงานประมงทะเลหรือต่อเนื่อง เป็นกิจการที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถแก้ไขกิจการประมงทะเลให้ถูกกฎหมาย จะเป็นฐานให้กิจการอื่น ๆ ยืนต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นทูน่า น้ำปลา
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของอุตสาหกรรมประมงพบมากที่สุด คือ การขาดแคลนแรงงาน ฉะนั้นต้องช่วยกันแก้ไข หาแรงงานเข้ามาสนับสนุน ภายใต้การจ้างอย่างถูกกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายในงานยังมีการเปิดต้นแบบ 42 โรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรม ภายใต้โครงการ SEAS of Change ประกอบด้วย บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท พัทยาฟู้ดอินดัสตรี จำกัด, บริษัท อาร์ เอส แคนเนอรี่ จำกัด, บริษัท เซ้าท์อีสต์เอเชี่ยนแพคเกจจิ่งแอนด์แคนนิ่ง จำกัด, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ไอ เอส เอ แวลู จำกัด, บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู้ด จำกัด, บริษัท คิงเบล โปรดิวเซอร์ จำกัด, บริษัท พี ซี ทูน่า จำกัด, บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด, บริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ,บริษัท ทั้งฮั่วซินการพิมพ์ จำกัด, บริษัท รอแยลแคนอินดัสทรีส์ จำกัด, บริษัท โลหะกิจรุ่งเรืองทรัพย์ จำกัด, บริษัท เอเชียนแปซิฟิกแคน จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ห้องเย็น เอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน), บริษัท คิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด สงขลา, บริษัท โอคินอสฟู้ด จำกัด, บริษัท ซีเฟรชอินดัสทรี จำกัด (มหาชน), บริษัท เจ.เอ็ม.อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด, บริษัท อันดามัน ซีฟู้ด จำกัด สาขาปากน้ำ, บริษัท อาร์ เอส แคนเนอรี่ จำกัด, บริษัท เอส พี เอ อินเตอร์ เนชั่นแนล ฟู้ดกร๊ป จำกัด, บริษัท เคเอฟฟู้ดส์ จำกัด,บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด, บริษัท มารีน ฟายน์ ฟูดส์ จำกัด, บริษัท อีสเทิร์น ดีไลท์ฟู้ดส์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ้านแกลงอุตสาหกรรม, บริษัท อภิวงศ์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด, บริษัท ยี่หนินอาหารแช่แข็ง จำกัด, บริษัท ไพร์ม โพรดักส์ อินดัสตรี้ จำกัด, บริษัท พนัสโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท ไซเบอร์แพค จำกัด, บริษัท น้ำปลาพิไชย จำกัด, บริษัท พรีเมี่ยม อิควิปเม้นท์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท พีเอส ฟู้ด โปรดิ๊วส์ จำกัด, บริษัท เอ็น. ซี. อาร์ รับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด, บริษัท บีอาร์ที แพ็ค เทค จำกัด, บริษัท ฉวีวรรณ อินเตอร์เนชั่นแนลฟู๊ดส์ จำกัด และบริษัท กรุงไทยอาหาร จำกัด(มหาชน) .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/