ทอพ.ถกสังคมผู้สูงวัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ เผยปี 2564 ไทยเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ มากกว่า 13 ล้านคน เป็นประเทศที่สองของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ รองปลัด ก.การอุดมศึกษาฯ ยกงานวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐไม่ควบคุมมาตรการใช้ชีวิต ปี 2575 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพพุ่ง 2.2 ล้านล้านบาท เเนะให้อำนาจ อปท. ดูเเลครอบคลุมทุกด้าน
วันที่ 27 มิ.ย. 2562 ที่ประชุมผู้บริหาร
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นพลวัตสำคัญที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อสังคมโลกและประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่สัดส่วนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 2562 ประชากรผู้สูงวัยมีมากกว่าประชากรวัยเด็ก สะท้อนได้จากตัวเลขของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2561 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66.4 ล้านคน เฉพาะผู้สูงอายุ 10,670,000 คน หรือร้อยละ 16.06 แบ่งเป็นผู้สูงอายุชาย 4,720,000 คน และผู้สูงอายุหญิง 5,950,000 คน โดยจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ มากกว่า 1 ล้านคน (ร้อยละ 17.98) รองลงมา นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น และอุบลราชธานี
ขณะที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เป็นประเทศที่สองของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และอีก 20 ปีข้างหน้า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงวัย และผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะมีมากถึง 3,500,000 คน
ด้าน ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สังคมผู้สูงวัยกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทย ซึ่งต่อไปประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยตัวเลขระบุว่าในอนาคตคนไทย 1 ใน 3 จะเป็นผู้สูงวัยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะเป็นตัวเลขสูงมาก รองจากสิงคโปร์
ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติได้ให้คำนิยามของสังคมผู้สูงวัย 3 ระดับ คือ 1.สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 2.สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนนี้อยู่แล้ว คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 และ 3.สังคมสูงวัยขั้นสูงสุด คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20
“ข้อมูลทั่วโลก ปี 2560 มีประชากรรวม 7,550 ล้านคน เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 12.7 หรือ 962 ล้านคน จึงเห็นว่าในโลกนั้นมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยเกินร้อยละ 10 เรียกว่า โลกกลายเป็นสังคมสูงวัยแล้ว โดยเฉพาะทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ เป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2560 โดยทวีปยุโรปมีผู้สูงวัยร้อยละ 24.7 และอเมริกาเหนือ ร้อยละ 21.7 ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน กำลังตามไปติด ๆ ด้วยประชากรสูงวัยร้อยละ 9.9 หรือ 63.9 ล้านคน”
รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวต่อถึงการใช้จ่ายงบประมาณในสังคมผู้สูงวัยของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เบี้ยยังชีพ พบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้การศึกษาเรื่องการประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายสุขภาพ การดูแล และเสริมสร้างสุขภาพ พบว่าหากรัฐบาลยังไม่ออกมาตรการควบคุม รวมถึงมาตรการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย คาดการณ์ ปี 2575 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศจะสูง 2.2 ล้านล้านบาท และในด้านการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2561 ปรากฎตัวเลขใช้งบประมาณจัดสรรเบี้ยยังชีพ ถึง 66,359 ล้านบาท
“การเข้าสูงสังคมผู้สูงวัยจึงมีผลกระทบต่อการบริโภค การมีอำนาจในการซื้อลดลง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม หากยังไม่มีแผนรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนยุทธศาสตร์ต้องกำหนดให้อย่างชัดเจน ซึ่งคิดว่ามีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาขับเคลื่อนบูรณาการอย่างจริงจัง ฉะนั้นโจทย์สำคัญ จะต้องมีการเตรียมพร้อม เพื่อสามารถสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพได้ สร้างหลักประกันรายได้ ส่งเสริมและขยายโอกาสทำงาน สร้างระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว มีความปลอดภัยในที่สาธารณะ เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ดำเนินการด้านผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกด้าน” ดร.อัจฉรา กล่าวในที่สุด .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/