ข้อมูลสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ประจำ พ.ค. เผยมีเด็กติดเกม 30 คน นักวิชาการ ม.มหิดล ชี้เกิดจากปัจจัยภายในครอบครัว ผู้ปกครองยื่นให้เล่น หวังอยู่นิ่ง ไม่รบกวน ยันไม่ช่วยเเก้ปัญหา
ปัจจุบันปัญหาปริมาณการติดเกมของเด็กเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุเดือน พ.ค. 2562 มีจำนวนผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น (จิตเวชสารเสพติดและพฤติกรรมเสพติด) เป็นโรคติดเกม 30 คน ในขณะที่ติดสารเสพติดเพียง 1 คน
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันเเห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กเเละครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเด็กติดเกมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการอ้างอิงสถิติอาจยังไม่ชัดเจน แต่สาเหตุหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายในครอบครัวที่เอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งเร้า เช่น โทรศัพท์ เครื่องเล่นเกม ทำหน้าที่ตอบสนองต่อเด็ก ซึ่งผู้ปกครองยื่นให้เพื่อหวังให้เด็กอยู่นิ่ง ไม่รบกวน ทั้งที่เป็นวิธีการไม่ช่วยแก้ไขปัญหา
ในขณะที่ลักษณะอาการความแตกต่างของเด็กติดเกมและไม่ติดเกม นักวิชาการ ม.มหิดล ระบุว่า เด็กติดเกมจะเล่นบ่อย จนขาดไม่ได้ แบ่งระยะเวลาในการเล่นไม่ได้ ส่วนเด็กไม่ติดเกม สามารถแบ่งเวลาและควบคุมความต้องการได้อย่างมีระเบียบและสม่ำเสมอ
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันองค์กรที่รับผิดชอบในเรื่องเด็กได้มีการรณรงค์และแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่การช่วยเหลือดังกล่าวจะไม่เป็นผลสำเร็จ หากผู้ปกครองหรือบุคคลภายในครอบครัวยังเอื้ออำนวยสิ่งเหล่านั้นให้กับเด็ก ๆ
“ประเทศญี่ปุ่นหรือนอร์เวย์ จะไม่นิยมให้เด็กเล่มเกมหรือใช้โทรศัพท์มาก หากมีวันหยุดจะให้ทำกิจกรรมอื่นมากกว่า”
นักวิชาการ ม.มหิดล ยังกล่าวถึงมหาวิทยาลัยในยุคสมัยใหม่มีหลักสูตร E-sport ยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจมากพอสำหรับเรื่องนี้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่า การเล่นกีฬา ควรจะเป็นการเล่นจริง ๆ มากกว่าเพราะยังได้ผลลัพธ์เรื่องสุขภาพร่างกายอีกด้วย
ภาพประกอบ:https://news.kapook.com/topics
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/