‘ศ.เกษียร’ ถอดบทเรียนเปลี่ยนย้ายอำนาจในอดีต พบ ‘ปฏิรูป’ ยากกว่า ‘ปฏิวัติ’ วาดฝันอยากเห็นสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง การเลือกตั้ง เป็นเวทีหลักต่อสู้ทางการเมืองสันติ สร้าง รธน. ศักดิ์สิทธิ์ ละเมิดมิได้ สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง ควบคู่ระบอบเสรี ปชต.
วันที่ 15 มิ.ย. 2562 คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน การเมืองเรื่องเจเนอเรชั่น นโยบายในฝัน และอนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงาน 70 ปี คณะรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มธ. (ท่าพระจันทร์)
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนา “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย กับดักหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” โดยระบุถึงบทเรียนจากกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจในอดีต พบที่ผ่านมามีการ “ปฏิรูป” ยากกว่า “ปฎิวัติ” เพราะต้องอาศัยการร่วมมือข้ามชนชั้นและอุดมการณ์มากกว่า ต้องอดทนรอนานกว่า ต้องให้ความคิดกับสังคมสุกงอมยอมรับมากกว่า ต้องพึ่งพิงเงื่อนไขดุลอำนาจระหว่างประเทศที่เอื้อเฟื้อเป็นคุณกว่า สรุปคือต้องอาศัยการมาประชุมกันของเหตุประจวบเหมาะที่เฉพาะเจาะจงจำนวนมากกว่าเพื่อสร้างอำนาจนำแห่งการปฏิรูป
ศ.ดร.เกษียร กล่าวถึงการปฏิรูป ก็สิ้นเปลืองชีวิตผู้คนน้อยกว่า ทิ้งรอยแผลและความบาดเจ็บบอบช้ำทางวัตถุและจิตใจแก่สังคมน้อยกว่าในระยะยาว ทำให้ระเบียบการเมืองสังคมที่ได้มามีสันติสุขและมั่นคงกว่า ขณะที่กระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจกินเวลาเป็นทศวรรษ ไม่ใช่เกิดขึ้นและจบลงด้วยเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงใหญ่ในครั้งเดียว ส่วนกลุ่มพลังใหม่ย่อมเลือกใช้วิธีการเปลี่ยนย้ายอำนาจที่สอดคล้องกับโครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่เป็นจริงและทรัพยากรเฉพาะตัวของตน บังเอิญในรอบปัจจุบัน กลุ่มเสียงข้างมากที่พอมีอยู่ คือ ทุนกับฐานเสียงข้างมาก ในสถานการณ์ระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านการเลือกตั้งประชาธิปไตย
“รอบนี้มีความเป็นไปได้กลุ่มทุนจับมือกับมวลชนเสียงข้างมากผลักดันการเปลี่ยนย้ายอำนาจผ่านทางการเลือกตั้งประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนย้ายอำนาจที่ถูกสุดในแง่การเสียหายต่อชีวิตคน ทั้งนี้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เราเป็นประเทศทำลายการเลือกตั้ง”
อีกหนึ่งบทเรียน คือ ชะตากรรมของสถาบันอำนาจทั้งหลายในสังคมการเมืองย่อมผันแปรไปตามทิศทางของกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจที่ใหญ่กว่า เราดูสถาบันการเมืองการปกครองที่เรามี ชะตากรรมเป็นอย่างไรช่วงเปลี่ยนแปลงอำนาจ ขึ้นอยู่กับทิศทางการเปลี่ยนย้ายอำนาจ โดยบรรดาสถาบันที่เอื้อเฟื้อต่อกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจจะมีอำนาจอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้น ในทางตรงข้าม บรรดาสถาบันทื่ฝืนขืนขัดขวางทวนกระแสกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจจะอ่อนเปลี้ยถอยด้อยอำนาจอิทธิลงไปในที่สุด
นักวิชาการ มธ. กล่าวต่อถึงความเป็นไปได้ของจินตนาการที่จะเกิดขึ้นที่ปลายอุโมงค์ จะเห็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เข้มแข็งกว่าเดิม ให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง สถาพรยิ่งยืนนาน ควบคู่กับระบอบเสรีประชาธิปไตย
นอกจากนี้มีการบรรจบประสานกันของเจตนารมณ์และพลังปฏิรูปจากเบื้องบนกับเจตนารมณ์และพลังปฏิรูปจากเบื้องล่าง ข้ามชนชั้นและอุดมการณ์ จะเห็นว่า ปฏิรูปครั้งใหญ่ที่ประสบความสำเร็จเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 สมัย 14 ต.ค. และพฤษภา ปี 35 เมื่อมีการประสานกันระหว่างเบื้องบนกับเบื้องล่าง ซึ่งหากรอบนี้มีอีกก็มีโอกาสเป็นไปได้
ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง กลายเป็นศูนย์อำนาจใจกลางและเวทีหลักในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติในกรอบกฎหมายและระบอบเสรีประชาธิปไตยเหนือสถาบันต่อต้านเสียงข้างมากนอกระบบการเมืองอื่น ๆ ซึ่งหากจะทะเลาะกันในเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ให้ทะเลาะกันในสภา อย่างมากเราก็หนวกหู ไม่อยากฟังก็ปิด แต่ฉลาดมากไล่ไปนอกสภา
ศ.ดร.เกษียร กล่าวต่อว่า ประชาชนผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจปฐมสถาปนา เป็นที่สถิตของอำนาจอธิปไตยที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ กฎกติกาของสังคมการเมืองซึ่งมาจากตัวแทนประชาชนทรงความศักดิ์สิทธิ์อันล่วงละเมิดมิได้เหนือสิ่งอื่นทั้งปวง ต้องทำให้รัฐธรรมนูญสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ล่วงละเมิดมิได้
เช่นเดียวกับหลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลพลเมืองต้องถูกยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันสำคัญ เสาหลัก และยุทธศาสตร์ของชาติที่มีประสิทธิผลจริงในทางปฏิบัติ รวมถึงประกันการจำกัดอำนาจรัฐด้วยการที่ประชาชนเข้าร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ เลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม
อีกทั้งต้องไม่มีรัฐประหาร ไม่มีตุลาการธิปไตย การปกครองโดยเสียงข้างน้อย ไม่มีการฉวยใช้สถาบันหลักของบ้านเมืองมาเป็นเครื่องมือทำร้ายเล่นงานเพื่อนร่วมชาติ เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง ผลักดันให้ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันหลักของบ้านเมืองกลายเป็นประเด็นเสวนาทางสังคม เพื่อแสวงหาฉันทามติทางสังคมมาเป็นฐานการเมืองต่อไป
“เรื่องบางเรื่องให้มีการเมืองน้อย แล้วฐานประชาชนให้มาก ซึ่งจะกลายเป็นที่มาของฉันทามติว่า เราจะรักษาสถาบันหลักของบ้านเมืองได้อย่างไร” นักวิชาการ มธ. กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/