‘ศาลปกครองสูงสุด’ สั่ง ‘รฟม.’ จัดให้มี ‘แผนที่เดินทาง’ สำหรับ ‘คนพิการทางการเห็น’ ที่สถานีรถไฟฟ้า 'สายสีม่วง' ทั้ง 16 สถานี พร้อมวินิจฉัย 'ลิฟต์' มีเพียงพอ ให้ 'คนพิการ-คนชรา' เข้าถึง-ใช้ประโยชน์ได้
....................................
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ศาลปกครองกลางได้อ่านผลแห่งคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.697/2564 หมายเลขแดงที่ อ.309/2568 ระหว่าง สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กับพวก (นายธีรยุทธ สุคนธวิท ,นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ,นายสว่าง ศรีสม ,นายวรกร ไหลหรั่ง และนายสุนทร สุขชา) รวม 6 ราย (ผู้ฟ้องคดี) ที่ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (รฟม.) ไม่ดำเนินการจัดให้มีลิฟต์ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ในโครงการสถานีขนส่งมวลชนในระบบขนส่งรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม เส้นทางช่วงเตาปูน - บางใหญ่ (รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ตามที่กฎหมายกำหนด
จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำลิฟต์สำหรับคนพิการที่สถานีรถไฟฟ้าทั้ง 16 สถานี เพิ่มเติมเฉพาะจุดที่ยังไม่ได้จัดทำลิฟต์สำหรับคนพิการ รื้อถอนลิฟต์บันได และจัดทำลิฟต์สำหรับคนพิการทดแทนเฉพาะจุดที่ 5 ของสถานีบางซ่อนและสถานีบางพลู และจัดทำอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมภายในขบวนรถไฟฟ้าและที่สถานีรถไฟฟ้าทั้ง 16 สถานี รวมถึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 6
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำลิฟต์สำหรับผู้พิการทั้ง 16 สถานี สถานีละไม่ต่ำกว่า 2 จุด ซึ่งเป็นทางเข้าและทางออกของทุกสถานีรถไฟฟ้า คือ ส่วนฝั่งถนนขาเข้า จำนวน 1 จุด และฝั่งถนนขาออก จำนวน 1 จุด ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2558
จึงรับฟังได้ว่า มีจำนวนเพียงพอเพื่อให้ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ประกอบข้อ 9 ของกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2548 และข้อ 14 วรรคหนึ่ง (10) ของกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2556
และยังไม่อาจรับฟังได้ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม หรือปิดกั้นการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ตามมาตรา 15 และมาตรา 20 (4) แห่ง พ.ร.บ.ติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รื้อถอนลิฟต์บันไดในบริเวณสถานีซึ่งอยู่คร่อมบริเวณทางแยก จำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางพลู สถานีเตาปูน และสถานีบางซ่อน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ลิฟต์บันไดได้อย่างเหมาะสมและหากมีความจำเป็นต้องใช้บริการลิฟต์บันไดเป็นกลุ่มจะส่งผลให้ต้องรอใช้บริการนานเกินสมควรนั้น
รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ลิฟต์บันไดที่ติดตั้งในบริเวณ 3 สถานี มีใบรับรองมาตรฐานการผลิตและติดตั้งที่ปลอดภัยสอดคล้องตามมาตรฐานความปลอดภัย En 81-40 : 2008 ตามข้อกำหนดความปลอดภัยสำหรับการก่อสร้างและการติดตั้งลิฟต์-ลิฟต์ชนิดพิเศษ สำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ส่วนที่ 40 : ลิฟต์บันไดสำหรับผู้บกพร่องทางการเคลื่อนที่ จึงรับฟังได้ว่า ลิฟต์บันไดเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมสำหรับผู้บกพร่องทางการเคลื่อนที่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีจัดให้มีขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม นอกเหนือจากลิฟต์สำหรับผู้พิการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดให้มีทุกสถานี สถานีละไม่ต่ำกว่า 2 จุด แล้ว
สำหรับในส่วนของการจัดทำอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ภายในโครงการรถไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีนั้น รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่ได้จัดทำแผนที่การเดินทางสำหรับคนพิการทางการเห็น ตามที่กำหนดในข้อ 14 วรรคหนึ่ง (15) ของกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้ พ.ศ.2556
แผนที่การเดินทางสำหรับคนพิการทางการเห็นเป็นอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่กำหนดในข้อ 14 วรรคหนึ่ง (15) ของกฎกระทรวงดังกล่าว และถือเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีความสำคัญและจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการทางการเห็น ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการติดตั้งได้
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีเลือกทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้เท่านั้น โดยที่มิได้คำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการให้คนพิการได้เข้าถึงการรับบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมมีผลให้ข้อกำหนดที่มีขึ้นในกฎกระทรวงดังกล่าวไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติจริง
การไม่จัดให้มีแผนที่การเดินทางสำหรับคนพิการทางการเห็น ตามสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 16 สถานีของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 14 วรรคหนึ่ง (15) ของกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้ พ.ศ.2556 จึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการจัดทำแผนที่การเดินทางสำหรับคนพิการทางการเห็นดังกล่าว
ส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนเชิงลงโทษพร้อมดอกเบี้ยนั้น ศาลเห็นว่า แม้ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่จัดให้มีแผนที่การเดินทางสำหรับคนพิการทางการเห็นในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 16 สถานี เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติก็ตาม
แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวมิได้เป็นผลโดยตรงให้เกิดความเสียหายที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับภาระในการเดินทางมายังสถานีรถไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายจากการเดินทางตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ประกอบกับการเลือกวิธีการเดินทางเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้า ผู้ฟ้องคดีย่อมมีทางเลือกหรือเสรีภาพที่จะเลือกวิธีการเดินทางได้
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเลือกวิธีเดินทางเพื่อมาใช้บริการรถไฟฟ้า จึงเป็นดุลพินิจของผู้ฟ้องคดีที่จะเลือกตามความเหมาะสมและความจำเป็นได้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ถือเป็นการกระทำละเมิด และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามฟ้อง
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการจัดให้มีแผนที่การเดินทางสำหรับคนพิการทางการเห็นที่สถานีขนส่งรถไฟฟ้าทั้ง 16 สถานี ของโครงการสถานีขนส่งมวลชน ในระบบขนส่งรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม เส้นทางช่วงเตาปูน - บางใหญ่ ทั้งนี้ ตามข้อ 14 วรรคหนึ่ง (15) ของกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2556
และเป็นไปตามรายการอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในสถานีขนส่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับคนพิการกำหนด ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น