‘ดีเอสไอ’ เรียก ‘ไชน่า เรลเวย์-อิตาเลียนไทย-ผู้ร่วมประมูล’ ก่อสร้างตึก ‘สตง.’ เข้าให้ปากคำ เบื้องต้นพบ ‘เส้นทางเงิน’ ปลายทางถึง 2 บุคคลชาวจีน
................................
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่จุดเกิดเหตุอาคารก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใหม่ ถล่ม เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเร่งปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายอย่างต่อเนื่อง โดยยังใช้เครื่องจักรหนักในการขุดหาและทำลายสิ่งกีดขวาง โดยเฉพาะโซน B และ C ซึ่งช่วงเช้าที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เข้าเก็บหลักฐานบางส่วนที่เป็นเหล็ก และซีเมนต์ นำไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยยอดผู้ประสบภัยวันนี้เวลา 10.00 น. มีผู้เสียชีวิต 37 ราย ผู้สูญหาย 57 ราย
ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการเข้าเก็บหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอยังคงต้องเข้าพื้นที่หน้างานอย่างต่อเนื่อง โดยการทำงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือส่วนที่เก็บหลักฐาน และส่วนสอบสวน ส่วนงานสอบสวนนั้น ก็มีความคืบหน้าไปมาก โดยมีการนัดหมายผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนคดีการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือ นอมินี ให้เข้ามาให้ข้อมูลในวันที่ 18 เม.ย.-15 พ.ค.2567
โดยจะมีบริษัทที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 จำกัด และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัทที่ร่วมประมูลโครงการก่อสร้างตึกสตง เบื้องต้นจากเส้นทางการเงิน พบว่าปลายทางมีการโอนไปถึง 2 บุคคลชาวจีน ซึ่งขณะนี้ทางดีเอสไอมีข้อมูลแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมได้
น.ส.ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร เปิดเผยถึงปฏิบัติการการค้นหาว่า ก่อนหน้านี้ที่พบแสงไฟกระพริบตรงบริเวณโซน B ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจาะโพรงเพื่อเข้าค้นหา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่พยายามตะโกนเรียกหรือส่งส่งสัญญาณ แต่ก็ไม่มีการตอบกลับแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่หมดหวัง ยังเร่งปฏิบัติการต่อไป ส่วนการทำงานด้านในไซต์งานนั้น ยังไม่ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่าขาดเหลืออะไร
“สำนักงานเขตจตุจักร ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง โดยปฏิบัติการมีความคืบหน้าไปเยอะเนื่องจากได้เครื่องจักรใหญ่มาดำเนินการค้นหา แต่อุปสรรคหน้างานยังคงเป็นเรื่องของการขุดเจาะ เนื่องจากมีแผ่นปูนขนาดใหญ่จำนวนมาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการยกแผ่นปูนออกและจะต้องมีการปรับแผนการปฏิบัติงานอยู่ตลอด โดยจะมีการประชุมร่วมกันในทุกหน่วยงาน” น.ส.ภัทร์กรกล่าว