‘แพทองธาร’ เผยให้ 4 สถาบันการศึกษาและกรมโยธาฯ ศึกษาการถล่มของตึกใหม่ สตง. กรอบเวลา 90 วัน คาดรู้ชัดถึงสาเหตุ และจะสามารถไล่ถึงผู้กระทำผิดได้แน่นอน ยังไม่ได้คุย ‘อิตาเลียน-ไชน่าเรลเวย์’ ด้านอธิบดีกรมโยธาฯ เผยตรวจสภาพอาคารทั่วไทย 7,000 กว่าแห่ง เสียหายหนักมาก 55 แห่ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงภายหลังการรับฟังรายงานผลการตรวจสอบอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา
นางสาวแพทองธารกล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารต่างๆ สามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้ ถ้าเกิดเหตุขึ้นมาอีก ตึกก็จะไม่ถล่ม ซึ่งจากที่ได้รับรายงานมาไม่พบว่า มีตึกไหนได้รับความเสียหายหนัก แต่ตึกที่ถล่มเป็นตึกเดียวที่เกิดขึ้น จึงมีการเอามาดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น และมีข้อสงสัยหลายเรื่องทั้งเริ่มต้นและกระบวนการ ส่วนซากไซต์ก่อสร้างที่ปรากฎอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการรื้อย้ายออก และมีการมอบหมายให้ 4 สถาบันการศึกษาและกรมโยธาธิการและผังเมืองจำลองโมเดลเหตุการณ์ เพื่อรับทราบถึงเหตุผลที่ทำให้ตึกถล่ม โดยจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน
ส่วนข้อสงสัยต่างๆ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รอให้มีความชัดเจนกว่านี้ก่อน และคาดว่าเมื่อเคลียร์ไซต์ก่อสร้างแล้วน่าจะได้ข้อมูลเพิ่ม รวมถึงจะทบทวนการตรวจสอบอาคารต่างๆใหม่ทั้งภาคราชการและเอกชน ส่วนตัวเคยมีประสบการณ์ก่อสร้างตึกมาแล้ว มีเรื่องต้องทำมากมาย ก็จะมาทบทวนกันว่า สิ่งที่กำหนดไว้ปลอดภัยหรือไม่ กระบวนการเหมาะสมกับปัจจุบันหรือไม่ ของราชการต้องเพิ่มอะไรหรือไม่ แต่ที่แน่ๆต้องเพิ่มเรื่องแผ่นดินไหวแน่นอน เพราะฉะนั้นการทบทวนกระบวนการจะทำให้กระบวนการคล่องตัวและตรงประเด็นมากขึ้น และจะเพิ่มมาตรการในการก่อสร้างตึกอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์อีก
“เราดูระหว่างทางอยู่แล้วว่า สิ่งไหนที่ทำแล้วผิดกฎหมาย อาจจะเป็นไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้ตึกถล่ม แต่ผิดมาตรฐาน กระบวนการ ก็ผิดกฎหมายอยู่ดี ส่วนจะทราบ 100% เมื่อไหร่ก็รอ 90 วัน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าถ้าไปยุ่งเรื่องโรงงานเหล็กมากๆ อาจจะมีการย้ายรมว.อุตสาหกรรม (เอกนัฏ พร้อมพันธุ์) นั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงอำนาจนะคะ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ไม่มีใครสนับสนุน และยังไม่หารือกับอิตาเลียนไทยและไชน่าเรลเวย์ แต่ถ้ามีการเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ยังไงก็ต้องคุย” นางสาวแพทองธารกล่าว
ด้านศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมารุนแรงแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ถ้าอาคารออกแบบถูกต้องสมบูรณ์ก็ต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดนไหวได้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เสียหายถึงโครงสร้าง มีเพียงอาคารของ สตง.ที่ถล่มลงมา โดยคณะกรรมการจะดูทั้งเรื่องมาตรฐานเหล็ก คอนกรีต แผน และวิดีโอบันทึกการพังทลายของตึก รวมถึงการทำแบบจำลองที่จะทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่จะใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และคำนวณว่าส่วนใดของอาคารที่รับแรงมากเป็นพิเศษ คาดว่าจะทำให้เข้าใจถึงกระบวนการที่ทำให้ตึกพังทลายลงมา ทั้งนี้ การศึกษาจะทำแยกกัน เพื่อให้มีการตรวจสอบกันเองว่า แต่ละแห่งได้ข้อเท็จจริงเหมือนกันหรือเปล่า
“ในโซเชียลมีเดียมีข้อสมมติฐานมากมาย ทั้งแรงเฉือน เสา ปล่องลิฟต์ เหล็กไม่ได้คุณภาพ แต่กระบวนการตรวจสอบจะไล่เช็กทุกๆเรื่อง อาจจะพบว่ามีเพียงบางปัจจัยที่สำคัญ เพื่อพบแล้วจะหาต่อไปว่า ทำไม่เกิดขึ้น และจะหาได้ต่อไปว่าใครควรรับผิดชอบ คณะกรรมการยังไม่สรุปผลตอนนี้ เพราะยังไม่ได้ศึกษาครบ มันอาจจะมีปัจจัยหลายเรื่อง พวกนี้จะถูกนำมาพิจารณาหมด โดยการสร้างโมเดลยังไม่ได้ใส่สมมติฐานอะไร แต่จะเอาแบบก่อสร้างมาทำแบบจำลองเสมือนจริง แล้วเอาสัญญาณการสั่นสะเทือนที่วัดได้มาป้อนในแบบจำลอง เพื่อคำนวณการสั่นสะเทือนและดูปัจจัยที่ทำให้อาคารถล่มลงมา” ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าว
ขณะที่นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ในการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว พบว่าในกรุงเทพฯ ตรวจสอบไปแล้ว 559 อาคาร 191 หน่วยงาน มี 2 หน่วยงานที่เสียหายรุนแรงจนห้ามใช้ ได้แก่ อาคารของกรมสรรพากรและอาคารของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ อาคารของหน่วยงานรัฐตรวจสอบแล้ว 7,000 อาคาร มีความเสียหายมาก 55 อาคาร ส่วนอาคารของเอกชนทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอนโด ทางนายอนุทินสั่งการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งไปยังเจ้าของอาคารทั้งหมดตรวจสอบอาคารดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยมีหนังสือสั่งการไปแล้ว และกทม.ได้แจ้งเจ้าของอาคารประมาณ 11,000 รายตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนอาคาร สตง.ที่ถล่มลงมา ยังไม่ได้มีการตรวจสอบว่าสร้างตามแบบหรือเปล่า