จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เผย แผ่นดินไหว กระทบเศรษฐกิจระยะสั้น-ความมั่นใจผู้ซื้อบ้านและคอนโด แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจระยะกลาง-ยาวอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหามีความจำเป็น ยันยันคงเป้าจีดีพีไม่น้อยกว่า 3 % สั่งกรมบัญชีกลางดูเกณฑ์เยียวยา แย้ม ใช้เกณฑ์เดียวกับสึนามิ-น้ำท่วม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ครม. มอบหมายให้หลายกระทรวงโดยเฉพาะการดำเนินการวางแผนรับมือกรณีเกิดภัยพิบัติในอนาคต รวมถึงการติดตามและตรวจสอบกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม สาเหตุมาจากอะไร และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อสร้างความกระจ่างและดึงความมั่นใจให้กลับมาสู่ประชาชนโดยเร็ว
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ในส่วนของด้านเศรษฐกิจ การช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการโดยกรมบัญชีกลางอนุมัติขยายวงวงเงินเงินทดรองจ่ายให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นจำนวน 200 ล้านบาท รวมถึงมาตรการของสถาบันทางการเงินของรัฐในเรื่องของสินเชื่อ เช่น ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยที่อยู่ในกำกับของคปภ.ดำเนินการไม่ให้ล่าช้า และเร่งรัดบริษัทประกันภัยตึกสตง. จำนวน 4 บริษัท ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
“กระทรวงการคลังได้ให้กรมบัญชีกลางให้ไปดูรายละเอียดของการช่วยเหลือประชาชนในการเยียวยา ซึ่งเราก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวและรุนแรงขนาดนี้ การเยียวยา การช่วยเหลือก็ไม่เคยดำเนินการ ฉะนั้นเราก็ต้องไปดูประวัติการเยียวยาในอดีตทั้งหมดเพื่อเอามาพิจารณาว่ากลไกที่จะเยียวยาจะช่วยเหลืออย่างไร”นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ทั้งนี้ การเยียวยา แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ อาคารบ้านพักที่เสียหาย และชีวิต ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่อง จะนำเข้าสู่ครม.เพื่ออนุมัติต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่จะใช้เกณฑ์อะไรเยียวยา นายจุลพันธ์กล่าวว่า ต้องไปดูเกณฑ์ที่เคยออกมา เช่น สึนามิช่วยอย่างไร น้ำท่วมช่วยอย่างไร ทั้งนี้ต้องดูที่ความเหมาะสมอีกครั้ง
เมื่อถามว่า จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกระทรวงการคลังดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งหากมีความจำเป็นก็ต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ระยะกลางและระยะยาวไม่มีผลกระทบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน โดยเฉพาะคอนโดจะมีผลกระทบในด้านความมมั่นใจต่อผู้ซื้อ แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถดำเนินการได้
เมื่อถามว่าจะกระทบกับเป้าหมายจีดีพีที่ตั้งไว้ร้อยละ 3 หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า อาจจะมีบ้าง แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนลงไปภายใต้เม็ดเงิน 1.5 แสนล้านบาทเพื่อประคับประคอง ดังนั้นจึงคงเป้าหมายจีดีพีไว้ที่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3