‘คปภ.’ ยัน ‘บ.ประกันภัย-ประกันชีวิต’ ทุนแข็งแกร่ง-มั่นคง พร้อมชดใช้สินไหมฯ ‘ผู้เอาประกัน’ ที่ได้รับผลกระทบจาก 'ภัยแผ่นดินไหว' ทุกราย ด้าน ‘นายกสมาคมประกันวินาศภัยฯ’ เผยกรมธรรม์ ‘ที่อยู่อาศัย’ คุ้มครองภัยแผ่นดินไหว 2 หมื่นบาท
............................................
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ในช่วงเย็นวันเดียวกัน คปภ.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยทุกบริษัท ให้ติดตามสถานการณ์และเตรียมการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทันที
“ทุกบริษัทมีความพร้อม ที่จะให้คำตอบกับประชาชน ผู้เอาประกันว่า กรมธรรม์ที่มีอยู่คุ้มครองหรือไม่ คุ้มครองแบบไหน นี่คือสิ่งที่บริษัทฯ ต้องเตรียมพร้อมตอบคำถามต่างๆเหล่านี้ โดยในวันนี้หรือเมื่อวานนี้ อาจมีผู้สอบถามไม่มากนัก แต่ตอนนี้หลายบริษัทฯแจ้งว่า ประชาชนได้สอบถามเข้ามาเยอะพอสมควร และเมื่อถึงพรุ่งนี้และเรื่อยๆไป เมื่อคนเริ่มกลับเข้าตึกแล้ว และเริ่มเห็นรอยร้าว ก็จะมีการสอบถามบริษัทประกันภัย บริษัทประกันวินาศภัย และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเคลม
นิติบุคคลของคอนโดมิเนียมหลายแห่ง แจ้งมายัง คปภ. ว่า มีการถ่ายภาพรอยร้าวต่างๆที่เกิดขึ้น รวบรวมให้นิติบุคคล แล้วให้นิติบุคคลนำไปส่งให้บริษัทประกันภัย ซึ่งทุกบริษัทฯเองก็เตรียมพร้อมรองรับ ถ้ามีชื่อเข้ามาเมื่อไหร่ ทุกบริษัทพร้อมตรวจสอบกรมธรรม์ ถ้ามีคนมาขอเคลม ก็เคลมให้ตามเงื่อนไข ขณะที่ คปก. ได้เปิดสายด่วน 1186 ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เพื่อให้คำปรึกษาผู้ประกันภัยที่ได้รับผลกระทบตลอด 24 ชั่วโมง และหลายๆบริษัทก็เปิดสายด่วนเช่นกัน” นายชูฉัตร กล่าว
นายชูฉัตร กล่าวว่า จากการตรวจสอบดัชนีความมั่นคงบริษัทประกันภัยตามกฎหมาย พบว่า[ริษัทประกันภัยยังแข็งแกร่งมาก โดยมีเงินกองทุนสูงเกือบ 300% สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำที่ 100% ดังนั้น ขอให้ผู้เอาประกันมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขในสัญญา
ด้าน นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า บริษัทประกันชีวิตกว่า 20 แห่ง ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทุกบริษัทมีคอลเซ็นเตอร์ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ และบริการผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น ที่จะให้ลูกค้าติดต่อได้ 24 ชั่วโมง ผู้ใดที่มีประกันชีวิตและประกันส่วนควบ หากประสบอุบัติเหตุจากการอพยพลงจากอาคาร หรือเจ็บป่วยด้วยอาการใด สามารถติดต่อบริษัทประกันชีวิตได้ตลอดเวลา
“ประกันชีวิตจะแบ่งกรมธรรม์เป็น 2 แบบ โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เป็นรายเดี่ยวนั้น หากท่านใดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากรายเดี่ยวสามารถติดต่อได้ และเราได้ทำงานร่วมกับ คปภ. ว่า มีบริษัทใดบ้างที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาคารที่ถล่มลง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาหลัก รับเหมารอง และผู้รับจ้างต่างๆ รวมทั้งได้ข้าไปตรวจสอบว่า บริษัทเหล่านั้น มีการทำแบบกลุ่มกับบริษัทประกันชีวิตใดบ้าง แต่ในเบื้องต้นยังไม่เจอ” นางนุสรา กล่าว
ขณะที่ นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมฯและสมาชิกบริษัทประกันภัยทุกแห่ง จะมีการกำหนดแนวทางและมาตรการร่วมกัน เพื่อทำให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สามารถใช้สิทธิเรียกสินไหมทดแทนฯได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องใช้เวลานาน โดยจะนำมาตรการที่เคยใช้ในช่วงเกิดมหันตภัยน้ำท่วมใหญ่มาใช้ และกำหนดเป็นมาตรการที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงการกำหนดราคามาตรฐานค่าซ่อมต่างๆ
“ถ้าท่านมีการทำประกันภัยอยู่ ธุรกิจประกันวินาศภัยพร้อมจะเข้าไปดูแลและชดใช้ความสูญเสียและความเสียหายให้กับท่านตามสัญญาประกันภัย ขอยืนยันว่าบริษัทประกันภัยทุกแห่งมีมั่นคง และมีการจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงตัวเองเอาไว้ โดยมีการทำประกันภัยต่อไว้ครบถ้วน ไม่ต้องห่วง” นายสมพร กล่าว
นายสมพร กล่าวว่า กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหว มีจำนวน 5.37 ล้านฉบับ แบ่งเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล 2.23 ล้านฉบับ และจังหวัดอื่นๆ 3.14 ล้านฉบับ โดยกรมธรรม์ทั้งหมดจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐาน คือ 20,000 บาท/กรมธรรม์ แต่หากมีการทำกรมธรรม์ขยายความคุ้มครองจะได้รับความคุ้มครองมากกว่านั้น แต่คาดว่าน่าจะมีจำนวนไม่มาก เพราะคนไม่ได้ตระหนักถึงภัยแผ่นดินไหวมากนัก