รอง ผบช.น.เผยเขตจตุจักรเตรียมดำเนินคดี 4 ชาวจีนลอบเอาเอกสารจากตึกถล่ม ตาม กฎหมายบรรเทาสาธารณภัย หลังตำรวจสอบเบื้องต้นพบทั้งสี่มีใบอนุญาตถูกต้อง ก่อนยึดเอกสารเอาไว้ตรวจสอบแล้ว เตรียมตั้งคณะชันสูตรศพพร้อมคณะตรวจสอบบเหตุตึกถล่ม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น. ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวกรณีเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับชายชาวจีน 4 คน เข้าไปลักลอบขนเอกสาร ซึ่งเป็นแฟ้ม 32 รายการ ออกจากด้านหลัง ของอาคารที่พังถล่มลงมาโดยไม่ได้รับอนุญาต ว่า ปัจจุบันผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประกาศ ให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นเขตพื้นที่สาธารณภัยซึ่งจากคำสั่งดังกล่าว ครอบคลุมตามข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งผลให้เขตพื้นที่นี้เป็นพื้นที่หวงห้าม บุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไม่ได้รับอนุญาตจะไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ได้
โดยทางตำรวจได้รับแจ้งจากประชาชนว่าพบเห็นกลุ่มบุคคลประมาณ 4 คนได้นำเอาเอกสารออกจากบริเวณ ดังกล่าวและมีลักษณะการค้นแฟ้มเอกสารออกไป ตำรวจจึงได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการติดตามตัว กระทั่งพบกับชายชาวจีน 1 คน ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่เกิดเหตุ อ้างตัวเป็นผู้อำนวยการโครงการเกี่ยวกับการขอก่อสร้างตึกจากการสอบปากคำ พร้อมตรวจสอบวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน และหนังสือเดินทางก็พบว่ามีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง และมีเอกสารที่ยืนยันว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวทำงานอยู่ในบริษัทซึ่งเป็นกิจการร่วมค้ากับบริษัทอิตาเลียนไทย
จากการตรวจสอบเอกสารทั้งหมด 32 รายการ พบเป็นเอกสารหลายชนิด เช่น เอกสารผู้รับเหมาก่อสร้าง / สำเนาอาร์เอฟไอ / เอกสารที่เกี่ยวข้องกับคำชี้แจงหนังสือแจ้งให้ตรวจสอบงานทั่วไป /เอกสารขอความคิดเห็นและทำการชี้แจงเอกสารผู้รับเหมา / เอกสารผู้รับเหมาเช่าช่วงและเอกสารเกี่ยวกับผู้รับเหมา 3-4 รายการ และ เอกสารงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้าและขนส่ง พนักงานสอบสวนจึงทำการตรวจยึดไว้ตรวจสอบ
พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนชาวจีนทั้ง 4 คน หลังสอบปากคำแล้วเสร็จจึงได้ปล่อยตัวชั่วคราว โดย ผกก.สน.บางซื่อ ได้ประสานการทำงานตรวจสอบร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้นิติกรตรวจสอบว่าชาวจีนทั้ง 4 คนนี้ ได้เข้ามาในพื้นที่โดยได้มีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่หรือไม่
เบื้องต้นสำนักงานเขตจตุจักรได้ อยู่ระหว่างร่างคำร้องเพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทั้ง 4 คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และเมื่อมีการเข้าแจ้งความ พนักงานสอบสวนก็จะติดตามตัวทั้ง 4 คน เข้ามาพบ และดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะที่อีก 1 รายผู้จ้างวานอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และขยายผลต่อไป
โดยหากทางกรุงเทพมหานครแจ้งความแล้วจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฐานผู้ใดเข้าไปในพื้นที่โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายหรือตามคำสั่งของผู้อำนวยการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุเพราะมีข้อบังคับและมีการติดประกาศแจ้งเตือนไว้แล้ว โดยหากจะเข้ามาต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก่อน
จากการสอบปากคำเบื้องต้นทั้ง 4 คน ระบุว่าต้องการเข้าไปในพื้นที่เพื่อเอาเอกสารไปเคลมประกันภัย ซึ่งเอกสารดังกล่าวอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ของลานจอดรถ ซึ่งเป็นสถานที่ชั่วคราวของบริษัทแต่ไม่ได้มีการขออนุญาต โดยทั้ง 4 คน เป็นพนักงาน รายย่อยของผู้รับเหมาในเครือบริษัทอิตาเลียนไทย พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารที่ตรวจยึดมาได้ว่าเกี่ยวข้องกับกรณีตึกถล่มหรือไม่ และจะมีการเรียกสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยอยู่ระหว่างการประสานงาน
ขณะที่ความคืบหน้าเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนงานที่ยังคงติดค้างในซากตึกที่ถูกถล่น ในวันนี้ พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.นพศิลป์ และ พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนนครบาล (ผบก.สส.บช.น.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่แล้ว
โดยเบื้องต้น ผบช.น. ได้มีการสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการชนะสูตรพลิกศพรวมถึงการตั้งคณะพนักงานสืบสวนว่าสาเหตุของการพังถล่มลงมาว่าเกิดจากสาเหตุใด ขณะเดียวกันตำรวจยังได้มีการประสานข้อมูลร่วมกับบริษัทประกันภัยว่ามีเอกสารส่วนใดที่จะต้องทำการส่งต่อเพื่อทำการส่งมอบ รวมถึงตรวจสอบว่ามีเอกสารส่วนใดที่หากมีการนำออกไปจากจุดเกิดเหตุแล้วจะส่งผลกระทบกับการทำคดีนี้เบื้องต้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล
ด้าน พล.ต.ท.สยาม เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังคงมีสำนวนคดีอื่นที่ต้องทำคือการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตซึ่งจะต้องแยกเป็นอีกสำนวนหนึ่งเพราะกระบวนการสืบสวนและสอบสวนต้องแยกกันทำแต่ว่าพยานหลักฐานที่ตรวจยึดได้จากพนักงานจำนวน 4 คนในครั้งนี้ก็จะต้องนำไปใช้ประกอบกัน ซึ่งขณะนี้ก็มีการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องไปหลายปากแล้ว โดยในส่วนของการกู้ชีพกู้ภัยก็จะมีฝ่ายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นคนดำเนินการแต่ในส่วนที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตก็จะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องรับผิดชอบในการทำสำนวนการสอบสวน