ครม.รับทราบ ‘สตง.’ แจ้งผลตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน ‘สำนักงาน ป.ป.ช.’ ปี 66 พบมีการบันทึก ‘ครุภัณฑ์’ ยังไม่ครบถ้วน-16 หน่วยงาน ‘มีข้อบกพร่อง’ เหตุตรวจสอบพัสดุ ‘เกินกำหนดระยะเวลา’ แนะติดตามการใช้จ่ายงบฯ ให้เป็นไปตามแผนฯ ลดการ ‘กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี’ แบบ ‘มีหนี้’
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งผลการตรวจสอบรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2566 และการตรวจสอบการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ
สำหรับสรุปสาระสำคัญของผลการตรวจสอบฯ มีดังนี้
1.ผลการตรวจสอบรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2566
จากการตรวจสอบรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2566 ของ สำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า มีสินทรัพย์ จำนวน 3,761.02 ล้านบาท หนี้สิน จำนวน 123.48 ล้านบาท ส่วนทุน จำนวน 3,637.54 ล้านบาท รายได้ จำนวน 3,172.62 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย จำนวน 2,871.91 ล้านบาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 300.71 ล้านบาท ซึ่งผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข
2.ผลการตรวจสอบการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ประเมินผลการใช้จ่ายเงิน การจัดการทรัพย์สิน และการบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมีผลการตรวจสอบสรุปได้ ดังนี้
-การประเมินผลการใช้จ่ายเงิน
สำนักงาน ป.ป.ช. มีเงินงบประมาณสำหรับจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 3,158.45 ล้านบาท โดยได้รับจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 2,545.65 ล้านบาท งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.21 ล้านบาท และเงินคงเหลือสะสม จำนวน 303.59 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณ สำหรับจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งมีจำนวน 3,169.68 ล้านบาท พบว่า ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สำนักงาน ป.ป.ช. มีงบประมาณสำหรับจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีลดลง จำนวน 11.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.35 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เนื่องจากเงินคงเหลือสะสม และงบกลางที่ได้รับลดลง
สำนักงาน ป.ป.ช. มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร จำนวน 1,662.78 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน 732.10 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง จำนวน 694.55 ล้านบาท และเงินคงเหลือสะสมตามนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 69.02 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52.65 23.18 21.48 และ 2.19 ของแผน ตามลำดับ
สำนักงาน ป.ป.ช. มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 2,549.81 ล้านบาท มีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแบบมีหนี้ จำนวน 455.61 ล้านบาท รวมผลการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 3,005.42 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 95.15 ของแผน และมีเงินงบประมาณคงเหลือ จำนวน 153.03 ล้านบาท
สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 3,005.52 ล้านบาท เบิกจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร จำนวน 1,646.89 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน 698.76 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน/สิ่งก่อสร้าง จำนวน 659.77 ล้านบาท และมีเงินคงเหลือสะสมตามนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 69.02 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รับอนุมัติเป็นค่าใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
ทั้งนี้ ในส่วนของผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรร สำนักงาน ป.ป.ช. มีตัวชี้วัด จำนวน 19 ตัวชี้วัด มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย/สูงกว่าเป้าหมาย จำนวน 15 ตัวชี้วัด และต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 4 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ จำนวน 3 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดเชิงปริมาณ จำนวน 1 ตัวชี้วัด
จากผลการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น พบว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแบบมีหนี้ จำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อแผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในปีถัดไป โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีแบบมีหนี้ ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน/สิ่งก่อสร้าง สูงถึง 400.63 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.93 ของเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีแบบมีหนี้ ทั้งหมดจำนวน 455.61 ล้านบาท อาจส่งผลทำให้ไม่สามารถนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ได้ตามแผน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้ข้อเสนอแนะผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. เร่งรัด ติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายเงิน เพื่อไม่ให้มีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแบบมีหนี้จำนวนมาก รวมทั้งควรกำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจหลักของสำนักงาน ป.ป.ช.
-การประเมินผลการจัดการทรัพย์สิน
สำนักงาน ป.ป.ช. มีแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เฉพาะงบลงทุน จำนวน 1,076.39 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง จำนวน 959.91 ล้านบาท และค่าครุภัณฑ์ จำนวน 116.48 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบผลการเบิกจ่ายเงินตามแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีกับแผนการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เฉพาะงบลงทุน พบว่า การเบิกจ่ายเงินตามแผนการจัดซื้อจัดจ้างสูงกว่างบประมาณตามแผนการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 396.86 ล้านบาท สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากมีการยกเลิกโครงการก่อสร้างอาคารตามแผนการจัดซื้อจัดจ้าง
รวมทั้งมีโครงการก่อสร้างที่มีแผนการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 แต่มีระยะเวลาดำเนินการถึงปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีการเบิกจ่ายเงินเพียงบางส่วนตามระยะเวลาดำเนินการตามสัญญา
สำหรับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งกรณีมีแผนการจัดซื้อจัดจ้าง และกรณีได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวนทั้งสิ้น 3.870 รายการ ดำเนินการด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน 3,799 รายการ วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป จำนวน 64 รายการ และวิธีคัดเลือก จำนวน 2 รายการ คิดเป็นร้อยละ 98.17 1.65 และ 1.18 ของจำนวนที่ดำเนินการทั้งหมดตามลำดับ
จากการตรวจสอบการดำเนินการตามแผนการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า มีโครงการตามแผนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการประกาศเผยแพร่ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) แต่ไม่มีการประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของ สำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 2 โครงการ และจากการตรวจสอบการบริหารพัสดุ พบว่า ทะเบียนคุมทรัพย์สินในระบบบริหารจัดการทรัพย์สิน บันทึกครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วน
โดย สำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่สามารถนำข้อมูลครุภัณฑ์ที่ได้มาก่อนปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เข้าในระบบบริหารจัดการทรัพย์สินได้ครบถ้วน อาจส่งผลต่อการแสดงข้อมูลของครุภัณฑ์ในรายงานการเงินของสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ครบถ้วน รวมถึงไม่สามารถควบคุมให้เกิดการบริหารครุภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ พบว่าการบริหารพัสดุบางด้านไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยพบข้อบกพร่องของหน่วยงานในสังกัด จำนวน 16 หน่วย ประกอบด้วย การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบพัสดุเกินกำหนดระยะเวลา จำนวน 8 หน่วย และการรายงานผลการตรวจสอบพัสดุเกินกำหนดระยะเวลา 30 วันทำการ จำนวน 8 หน่วย
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ให้ข้อเสนอแนะผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการจัดให้มีการสอบทานการประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของ สำนักงาน ป.ป.ช. และติดตามผลการดำเนินการพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงการประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างจากเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง (www.sprocurement.go.th) ไปยังเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ผ่านเทคโนโลยี RSS (Really Simply Syndication) ของกรมบัญชีกลางต่อไป
และให้เร่งรัดติดตามผลการดำเนินการการบันทึกข้อมูลในทะเบียนคุมทรัพย์สินของครุภัณฑ์ให้ครบถ้วนถูกต้องโดยเร็ว เพื่อให้มีระบบควบคุมครุภัณฑ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
-การประเมินผลการบริหารโครงการ
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการและแผนการใช้งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ทั้งสิ้นจำนวน 72 โครงการ จำนวนเงิน 168.29 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบจำนวนโครงการกับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พบว่า มีจำนวนโครงการลดลง 361 โครงการ ซึ่งเป็นผลมาจากสำนักงาน ป.ป.ช. มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการรายงานจำนวนโครงการ โดยนับรวมโครงการที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางและสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค จำนวน 9 แห่ง ดำเนินโครงการเดียวกันนับเป็น 1 โครงการไม่ได้แยกเป็นโครงการย่อยเหมือนปีงบประมาณ พ.ศ.2565
สำนักงาน ป.ป.ช. มีผลการดำเนินโครงการแล้วเสร็จตามแผน จำนวน 69 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3 โครงการ อย่างไรก็ตาม จากจำนวนโครงการแล้วเสร็จตามแผน จำนวน 69 โครงการ มีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแบบมีหนี้ จำนวน 22 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ แต่เบิกจ่ายเงินไม่ทันในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 19 โครงการ และได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาดำเนินการ จำนวน 3 โครงการ
จากผลการดำเนินงานโครงการในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พบว่า การดำเนินงานบางโครงการ/กิจกรรม มีการปรับเปลี่ยนแผนงาน ปรับเปลี่ยนกิจกรรมภายใต้โครงการและวงเงินงบประมาณ รวมทั้งมีการยกเลิกโครงการภายหลังจากได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการ พบว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ยังขาดแนวทางการประเมินผลโครงการที่ชัดเจน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้ข้อเสนอแนะผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. ในโอกาสต่อไป การจัดทำโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ ให้กำกับดูแลผู้รับผิดชอบดำเนินการด้วยความรอบคอบ มีแผนการดำเนินโครงการที่ชัดเจน และให้พิจารณากำหนดแนวทางการประเมินผลโครงการและกำกับติดตามการประเมินผลโครงการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด