‘รมว.คลัง’ ออกแถลงการณ์ ยันเหตุการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ไม่กระทบการดำเนินงาน ‘หน่วยงานรัฐ-ธนาคารของรัฐ-โครงข่ายระบบการเงิน’ สั่ง ‘สถาบันการเงินเฉพาะกิจ’ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
..................................
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. เวลาประมาณ 20.30 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ออกแถลงการณ์ เรื่อง ความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและการคลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (28 มี.ค.) ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ธนาคารของรัฐ หรือโครงข่ายระบบการเงินแต่อย่างใด
พร้อมระบุว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ และเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ผ่านหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
สำหรับแถลงการณ์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและการคลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีเนื้อหาว่า ข้าพเจ้าได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจากข้อมูลเบื้องต้น ณ ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานความเสียหายที่มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานทางการคลัง หรือระบบการเงินของประเทศ แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นแม้จะสร้างความตื่นตัวในวงกว้าง แต่ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ธนาคารของรัฐ หรือโครงข่ายระบบการเงินแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารและระบบงานที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ของกระทรวงการคลัง โดยถือเป็นการดำเนินการเชิงป้องกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับข้าราชการและประชาชนในความปลอดภัยของสถานที่ทำงานภาครัฐ และเพื่อให้การดำเนินงานด้านการคลังของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอุปสรรค
กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์และเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ผ่านหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการบรรเทาผลกระทบทั้งในส่วนของลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ
หรือมาตรการพักชำระหนี้ เป็นต้น เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์แผ่นดินไหวให้สามารถลดภาระต้นทุน มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการฟื้นฟูความเสียหาย ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคาร โรงงาน เครื่องจักร เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สาขาของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง หรือสายด่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแต่ละแห่งได้ทันที
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประสานงานร่วมกับ สมาคมประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัย เร่งติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้บริษัทประกันภัยเตรียมพร้อมดำเนินการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โดยให้สำนักงาน คปภ. ประสานงานกับบริษัทประกันภัยให้สำรวจความเสียหายว่า มีผลกระทบต่อบริษัทประกันภัยอย่างไรบ้าง
หากจำเป็นนับจากนี้ ขอให้ คปภ.ประสานกับภาคธุรกิจประกันภัยว่าควรจะมีการเตรียมความพร้อมปรับปรุงความคุ้มครองประกันอัคคีภัย หรือประกันภัย IAR Industrial All Risks ให้บรรจุความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเข้าไปด้วย โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แจ้งปิดการซื้อขายทุกตลาด ทั้ง SET mai TFEX ในภาคบ่ายของวันนี้ ตั้งแต่เวลา 14.07 น. เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและผู้ใช้บริการ
“ข้าพเจ้าขอให้ประชาชน นักลงทุน และผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และหน่วยงานภาครัฐพร้อมดำเนินการทุกมาตรการที่จำเป็น เพื่อให้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมหากมีความคืบหน้าเป็นลำดับในโอกาสต่อไป” แถลงการณ์ของนายพิชัย ลงวันที่ 28 มี.ค.2568 ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.13 น. วันเดียวกัน (28 มี.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ข่าวว่า ตามที่มีเหตุแผ่นดินไหวขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ (28 มี.ค.) ธปท. ขอยืนยันว่า ขณะนี้ระบบการชำระเงินและบริการทางการเงินต่างๆ ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่การให้บริการของสถาบันการเงินผ่านสาขาอาจมีข้อจำกัด โดย ธปท. ขอแสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้
ทั้งนี้ ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมให้ทราบต่อไป โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทาง social media และเว็บไซต์ของ ธปท. (www.bot.or.th)
@‘ธอส.’ประกาศมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ด้าน นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างเต็มที่ผ่าน “โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย” จำนวน 2 มาตรการ และ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2568” จำนวน 5 มาตรการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย
1.สำหรับลูกค้าปัจจุบัน : ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4–12 คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลง 50% ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน โดยเมื่อครบระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าสามารถกลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิมต่อไป
2.สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ : กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1 – 3 เท่ากับ 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด, อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 4 – 24 เท่ากับ 2.00% ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เท่ากับ MRR-3.30% ต่อปี (3.24% ต่อปี), ปีที่ 4 เท่ากับ MRR-2.40% ต่อปี (4.14% ต่อปี) และปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี, ลูกค้าสวัสดิการ เท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี
และกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย เท่ากับ MRR (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบัน เท่ากับ 6.545% ต่อปี) ระยะเวลาการกู้ 40 ปี กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,100 บาท เท่านั้น พิเศษ!ฟรีค่าธรรมเนียมประเมินราคาหลักประกัน (1,900 – 2,800 บาท) และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองไม่เกิน 1% ของวงเงินจำนอง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอีกด้วย
มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2568 จำนวน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 2 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้น เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 3 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระ โดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)
มาตรการที่ 4 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)
มาตรการที่ 5 : พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติกับบริษัทประกันภัยที่ธนาคารจัดให้ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่ประสบภัยทุกราย อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายโดยใช้ภาพถ่าย จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงอีกไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามกรมธรรม์)
นอกจากนี้ ลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ยังสามารถเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซ่อม - แต่ง : สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่ต้องการกู้เพิ่มเพื่อต่อเติม ซ่อมแซม หรือซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย มีการทำนิติกรรมสัญญาและผ่อนชำระเงินกู้กับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี วงเงินกู้เดิมภายใต้หลักประกันสูงสุด ไม่เกิน 5 ล้านบาท ประวัติการผ่อนชำระสม่ำเสมอทุกเดือนไม่น้อยกว่า 1 ปี วงเงินให้กู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกัน ไม่เกิน 100,000 บาท
ระยะเวลาการกู้สูงสุดนาน 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีเพียง 1.00% ต่อปี กรณีกู้ 1 แสนบาท ผ่อนชำระเงินงวดเพียง 2,900 บาท เท่านั้น พิเศษ! ฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน 1,900 บาท โดยไม่ต้องจดทะเบียนการจำนองเพิ่มที่สำนักงานที่ดิน
สำหรับผู้ที่ประสงค์ขอรับบริการ “โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2568 ” ในมาตรการที่ 1-4 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และมาตรการที่ 5 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซ่อม - แต่ง สามารถยื่นคำขอกู้ได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
@‘เลขาฯกสทช.’น้อมรับข้อท้วงติงส่ง SMS แจ้งเตือนล่าช้า
ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ขอน้อมรับข้อท้วงติงจากประชาชนกรณีการสื่อสารจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. ของวันนี้
โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการประชุมเร่งด่วนทันที แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเป็นผู้กำหนดข้อความ และส่งมายังสำนักงาน กสทช. ขอให้ประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือช่วยส่งข้อความสั้น (SMS ) แจ้งเตือนประชาชน ดังนั้น หาก ปภ. ส่งข้อความมาล่าช้า หรือส่งข้อความหลายครั้งจำนวนมาก ก็จะทำให้การส่ง SMS มีความล่าช้าออกไปมากขึ้น เพราะระบบการส่ง SMS ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีข้อจำกัดจำนวนการส่งต่อครั้งไม่เกินประมาณ 200,000 เลขหมาย
นายไตรรัตน์ ยืนยันว่า การสื่อสารส่งต่อข้อความของ ปภ. ไปถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สำนักงาน กสทช. ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพราะเป็นเหตุการณ์ร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และได้มีการประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันทีหลังได้รับข้อความจาก ปภ. เช่นกรณีเหตุการณ์ในวันนี้ ปภ. ได้ส่งข้อความสั้นที่ต้องการให้ส่งต่อไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจำนวน 4 ครั้ง คือ ครั้งแรก เวลา 14.30 น. จากนั้นส่งมาอีกครั้งในเวลา 16.00 น. จำนวน 2 ข้อความ และครั้งสุดท้ายส่งมาในเวลา 16.30 น. ซึ่งสำนักงาน กสทช. ก็ได้ส่งข้อความต่อให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันที
ส่วนกรณีระบบเตือนภัย (Cell Broadcast) ผู้ที่เป็นหลักในการจัดทำระบบ จัดหาผู้ดำเนินการ และผู้กำหนดข้อความ คือ ปภ. ส่วนสำนักงาน กสทช. เป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ทางด้านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือพร้อมในเรื่องระบบแล้ว เหลือรอระบบจาก ปภ. หากยังดำเนินการไม่ได้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ยังดำเนินการไม่ได้ เพราะระบบจะเชื่อมต่อกัน
“วันนี้เจ้าหน้าที่ของเราพาพ่อไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โทรมาแจ้งผมตอนแผ่นดินไหว ตึกยังสั่น และมีผู้ป่วยติดอยู่บนตึกจำนวนมากว่า ขอให้ช่วยประสานผู้ให้บริการมือถือเพื่อแก้ปัญหาทราฟฟิคเร่งด่วนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล เพราะการสื่อสารมีปัญหาเนื่องจากมีคนใช้โทรศัพท์จำนวนมาก ต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงจากตึก พวกเราก็รีบประสานค่ายมือถือทันที ประชุมด่วนทันที
ผมยืนยันว่า ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ไม่มีใครสบายใจ และไม่สามารถนิ่งนอนใจ กับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติได้ บางอย่างอาจไม่ได้รวดเร็วในทันทีเพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ทุกคนก็พร้อมเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่” นายไตรรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจมีกลุ่มมิจฉาชีพใช้วิธีส่ง SMS หลอกลวงประชาชน เพื่อให้กดลิงก์เข้าไปติดตามข่าวสาร หลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ จึงขอให้ประชาชนไม่กดลิงก์จาก SMS ที่ไม่มีแน่ใจโดยเด็ดขาด