วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคประชาชน บุก กรมสรรพากร ยื่นหนังสือถึง ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ขอให้ตั้ง ‘คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร’ ตรวจสอบธุรกรรม ‘ตั๋วสัญญาใช้เงิน’ 4.4 พันล้าน ของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและครอบครัว มีพฤติการณ์จงใจ-เจตนาเลี่ยงภาษีรับให้ หรือไม่ – ตำรวจนอกเครื่องแบบ-ในเครื่องแบบ ติดตามการแถลงข่าวใกล้ชิด ก่อนถาม ผู้สื่อข่าวอิศรา เป็นนักข่าวใช่หรือไม่ ก่อนแสดงตนเป็น ‘สืบ’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่กรมสรรพากร นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอให้กรมสรรพากรดำเนินการขอความเห็นจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตามมาตรา 13 สัตต (7) แห่งประมวลรัษฎากร ให้วินิจฉัยธุรกรรมการซื้อหุ้นมูลค่า 4,434.5 ล้านบาท ของนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายวิโรจน์กล่าวว่า การซื้อหุ้นของนายกรัฐมนตรีต้องมีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษรว่า การกระทำในลักษณะนี้เข้าข่ายการทำนิติกรรมอำพราง คือ เจตนาที่แท้จริง คือ การรับให้หุ้นจากบุคคลในครอบครัวโดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ ตั๋ว PN (Promissory Note)
“ผมเรียกว่าใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อทำนิติกรรมอำพราง เปลี่ยนจากเจตนาที่แท้จริง คือ การรับให้เป็นการซื้อเพียงแค่รูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ 5 % ใช่หรือไม่”นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์กล่าวว่า นางสาว แพทองธาร ไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นผู้นำประเทศที่มีอำนาจรัฐ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นประมุขของฝ่ายบริหาร และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังโดยตำแหน่งด้วย ซึ่งถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียต่อสาธารณะในเรื่องของวินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน
นายวิโรจน์กล่าวว่า กรณีที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ออกมาชี้แจงในลักษณะที่ปักใจเชื่อไปแล้วว่า คือ การทำธุรกรรมซื้อขายกันจริง แต่ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยเลยว่า เป็นนิติกรรมอำพราง นายปิ่นสายให้เพียงความเห็นไม่พอ ควรจะต้องมีลายลักษณ์อักษาปรากฎออกมาอย่างเป็นทางการ เพื่อที่หากมีผลกระทบทางร้าย ทางลบของการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน นายปิ่นสายจะต้องรับผิดและรับชอบด้วย
“การให้ความเห็นของคุณปิ่นสาย ไม่มีความรับผิดรับชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้คุณปิ่นสายมีความรับผิดรับชอบตามหน้าที่ของอธิบดีกรมสรรพากรที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดเก็บภาษีของแผ่นดิน คุณปิ่นสายไม่ได้ทำหน้าที่ให้กับใครนะ ทำหน้าที่ให้กับประชาชน คุณปิ่นสายต้องวางตนให้มีความเป็นธรรมอย่างมากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 62 คือ การจัดทำระบบจัดเก็บภาษีที่มีความเป็นธรรมกับสังคม”นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องที่นายปิ่นสาย เป็นบุตรชายคนโตของนายปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งมีความใกล้ชิดกับนางสาว แพทองธาร และนายทักษิณนั้น คิดว่าความใกล้ชิดไม่ใช่ปัญหา ต้องให้เวลานายปิ่นสาย
“การกระทำ การตัดสินใจ และการใช้อำนาจของท่าน (นายปิ่นสาย) จะเป็นเครื่องพิสูจน์ และจะเป็นการบอกกับประชาชนว่า ประชาชนจะไว้ใจท่านในฐานะอธิบดีกรมสรรพากรได้หรือไม่
นายวิโรจน์กล่าวว่า หลังจากนี้จะใช้กลไกของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ติดตามความคืบหน้า ซึ่งจะเชิญนายปิ่นสายไปชี้แจงและหารือในคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
อ่านประกอบ : อธิบดีกรมสรรพากรแจงกรณีตั๋ว PN นายกฯ รับโอนหุ้น 4.4 พันล. ยังไม่ทำให้เกิดภาระภาษี
นายวิโรจน์กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของสาธารณะ คือ ไม่ใช่การซื้อขายกันจริงใช่หรือไม่ เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายทิพย์ ซื้อขายปลอม เป็นการซื้อขายเพียงแค่รูปแบบ เพื่อบดบังเจตนาที่แท้จริง คือ การรับให้หุ้นจากครอบครัว หรือได้หุ้นมาจากการให้ของพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่
“ต้องย้ำว่า ถ้าหากเป็นการรับให้ของแม่ ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทต้องเสียภาษี 5 % ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท จากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ ต้องเสียภาษี 5 % ดังนั้น การวินิจฉัยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นทางการจึงสำคัญอย่างมาก”นายวิโรจน์กล่าวและว่า
“ตั๋วPN เป็นเครื่องมือทางการเงิน ไม่ได้ผิด เพราะเป็นการให้เครดิตกันระยะสั้น ยังคงทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัญหาหรือประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ กรณีของนางสาว แพทองธาร เจตนาที่แท้จริง เป็นการซื้อขายจริงหรือไม่ หรือเป็นการซื้อขายทิพย์ หรือสร้างการซื้อขายเป็นเพียงรูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้หรือไม่ ประเด็นที่วินิจฉัยไม่ใช่เรื่องตั๋วPN แต่ต้องวินิจฉัยพฤติการณ์การดำเนินการของนายกรัฐมนตรี”นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์กล่าวว่า คนที่จะสืบสวนเรื่องนี้และมีคำวินิจฉัยออกมาว่า เงื่อนไข องค์ประกอบแห่งพฤติการณ์อะไรที่จะเข้าข่ายนิติกรรมอำพรางที่สร้างการซื้อขายทิพย์ ซื้อขายเพียงแค่รูปแบบ เปลี่ยนจากการให้เป็นการซื้อขาย คือ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และอาจจะต้องย้อนกลับไปดูการยักย้าย ถ่ายเทหุ้นของนางสาว แพทองธารกับบุคคลอื่นๆ ด้วย
“ที่ผ่านมา มีการชำระค่าหุ้นกันบ้างหรือไม่ หรือย้อนไปไกลกว่านี้ ปรากฏว่า ตั้งแต่ทำกันมา ไม่เคยมีการชำระเงินกันเลย และตั๋ว PN เก่า ๆ เคยเก็บเอาไว้ไหม หรือเสียหายไปแล้ว ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรสามารถเรียกเอกสารมาตรวจสอบย้อนหลังได้”นายวิโรจน์กล่าว
เมื่อถามว่า การตรวจสอบการประเมินเงินได้ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นของนายกฯหรือบุคคลอื่น กรมสรรพากรไม่มีการเผยแพร่ หรือรายงานคำวินิจฉัยหรือความเห็นออกมาเป็นรายบุคคล นายวิโรจน์กล่าวว่า เรื่องนี้จำเป็นที่กรมสรรพากรต้องชี้แจงต่อสาธารณะ เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอภาคกัน
“ถ้ากรณีนี้คุณแพทองธารทำได้ ประชาชนทั่วไปก็ต้องทำได้ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการโอนเท่านั้น แต่ทรัพย์สินอื่น เช่น ที่ดิน หากโอนให้กับลูกเกิน 20 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีรับให้ด้วย”นายวิโรจน์กล่าว
เมื่อถามว่าจะพิสูจน์อย่างไรว่า ไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง นายวิโรจน์กล่าวว่า ต้องดูพฤติการณ์ ดูเจตนา ซึ่งคิดว่าคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรสามารถตรวจสอบและสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงได้
“ถ้าเราคิดว่ากรณีของคุณแพทองธารทำได้แล้วทุกคนทั้งประเทศที่มีความมั่งมีทำเหมือนคุณแพทองธารทั้งหมด สาธารณะ สังคม รัฐได้ประโยชน์อะไร สุดท้ายเป็นผลกระทบอย่างร้ายแรงในการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ต่อไปนี้ภาษีรับให้อาจจะจัดเก็บไม่ได้เลย”นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์กล่าวว่า นอกจากภาษีรับให้แล้ว ยังมีเรื่องค่าอากร สัญญาเงินกู้ ทุก 2,000 บาท จะเสียค่าอากร 1 บาท แต่ไม่เกินเพดาน 10,000 บาท การเป็นหนี้ระดับร้อนล้านบาท พันล้านบาท แต่ละฉบับเสียค่าอากรไม่เกินฉบับละ 10,000 บาท แต่ถ้าใช้ตั๋ว P/N ค่าอากรเพียงฉบับละ 3 บาท
“ถ้ามีความเสียหายกับแผ่นดินเกิดขึ้น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่สร้างความเสียหายจะไม่มีคนรับผิดรับชอบไม่ได้ หากสุดท้ายภาษีการรับให้จัดเก็บไม่ได้เลย ประเทศจัดเก็บภาษีไม่ได้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายกับแผ่นดิน เมื่อถึงตรงนั้นอาจจะต้องมีการเอาผิดกับอธิบดีกรมสรรพากร คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ลงนามและปรากฏชื่อเป็นผู้วินิจฉัยและวางแนวทางที่ทำให้ประเทศเสียหายในการจัดเก็บรายได้”นายวิโรจน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์ของนายโรจน์มีตำรวจนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบประมาณ 3-6 นาย มาเฝ้าการแถลงข่าวของนายวิโรจน์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากนายวิโรจน์แถลงข่าวและยื่นหนังสือเสร็จ ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบรายหนึ่งได้เข้ามาสอบถามผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า เป็นผู้สื่อข่าวใช่หรือไม่ โดยได้แสดงตนว่าเป็น ‘สืบ’
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องประกอบ :