'ชูศักดิ์ ศิรินิล' โต้ฝ่ายค้านอย่ามโน 'ดีลปีศาจ' ยันรัฐบาลจริงใจปฏิรูปการเมือง-แก้รัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอชี้แจงกรณี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ระบุในการอภิปรายว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปการเมือง ไม่มีความจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น สองเรื่องนี้มีความสำคัญ และรัฐบาลให้ความสนใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ขอกล่าวถึงเรื่องที่อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องของดีลกับปีศาจ ดีลข้ามขั้ว สักเล็กน้อย ตนเองอยู่ในเหตุการณ์เสมอมา หลังจากเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เมื่อพรรคก้าวไกลได้เป็นพรรคอันดับ 1 ชนะการเลือกตั้ง เราก็แสดงความยินดีกับพรรคอันดับ 1 มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะพรรคอันดับ 2 ก็ไม่แข่งขัน ถ้าคิดว่าเรามีดีลก็ดีหรือจะแข่งขันก็ดี แต่ไม่มีกฎข้อห้ามว่าพรรคอันดับ 2 ห้ามจัดตั้งรัฐบาล แต่เราก็เปิดโอกาส จนท้ายที่สุดเหตุการณ์ผ่านมาการจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหา และแกนนำของท่านบอกว่าให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ถึงเกิดเป็นรัฐบาลนี้ขึ้น และทุกคนก็ทราบดีว่ามีความเป็นมาอย่างไร ที่ตนเองกล่าวเช่นนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าดีลข้ามขั้ว หรือดีลกับปีศาจนั้นเป็นเรื่องที่อาจจะนโนกันไปเอง เป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 มีนโยบายเด่นอันหนึ่งที่ไม่เคยเห็นในรัฐบาลใดแถลงแบบนี้มาก่อน คือ การวิเคราะห์ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันที่สำคัญมีความท้าทาย 8 ประการ ในประการที่ 7 ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมายาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นี่คือการวิเคราะห์โดบรัฐบาลในขณะนั้น
จากปัญหาข้างต้นจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดหมวดว่าด้วยการปฏิรูปไว้ท้ายรัฐธรรมนูญว่า ให้ตรากฎหมายว่าด้วยแผนและการปฏิรูปประเทศ และให้เริ่มทำภายใน 1 ปี แต่การปฏิรูปการเมืองก็ไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย ท้ายที่สุดผลที่ออกมาก็เป็นคนละเรื่องกับการที่เราจะปฏิรูปการเมืองมีแต่กำจัด มีแต่การควบคุม การยุบพรรคการเมือง การใช้อำนาจกำกับดูแลพรรคการเมืองให้อยู่กับร่องกับรอย เมื่อเป็นเช่นนี้ท้ายที่สุดการปฏิรุปการเมืองและประเทศเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีรัฐธรรมนูญฉบับรี้เกิดขึ้น หมายความว่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาการเมือง ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีทางทำได้
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นมีปัญหาใหญ่ โดยปัญหาสำคัญ คือ การมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4/2564 ที่มีสาระสำคัญที่เป็นปัญหา คือ เราจะทำประชามติกี่ครั้ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เกิดขึ้นจากการทำประชามติ ถ้าทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องถามประชาชนก่อนว่าจะประสงค์มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ข้อความนี้ทำให้เกิดการตีความเป็นสองนัยยะ 1. ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง 2. ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าทำ 2 ครั้ง
ท้ายที่สุดเกิดการยื่นญัตติขอแก้ไขมาตรา 256 เพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ขณะนั้นประธานสภาสั่งไม่บรรจุ แปลว่า สภาเห็นว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจทำเรื่องรัฐธรรมนูญต่อโดยตั้งกรรมการ 1 ชุด มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการทุกคนตัดสินใจว่า 1.ทำประชามติ 3 ครั้ง 2.แก้กฎหมายประชามติ ขณะที่รัฐสภากลับไม่บรรจุระเบียบวาระ และนำเรื่องนี้เข้าสู่ครม. เป็นมติครม. เห็นชอบให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ให้แก้กฎหมายประชามติ ท้ายสุดกฎหมายก็ประสบปัญหา ขณะนี้ก็รอเวลา 180 วัน ให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเองกลับมาเพื่อพิจารณาร่วมกันกันก่อนจะเกิดเหตุการณ์อย่างที่ว่า
“โดยรวมเรามีมติรัฐสภาไปแล้วว่า ให้สอบถามศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาชี้ขาดว่าทำประชามติกี่ครั้ง เราก็เดินตามนั้น หากเป็นไปได้ให้ทำ 2 ครั้ง ญัตติที่เราเสนอค้างอยู่ ในรัฐสภาก็จะเดินหน้าต่อ จะประกบกับ 180 วันของกฎหมายประชามติพอดี ผมเรียนด้วยความเคารพว่าเรามีความจริงใจว่าอยากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จให้ได้” นายชูศักดิ์ กล่าว