‘ก.ยุติธรรม’ เปิดรับฟัง ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ฯ’ แก้ ‘ป.อาญา-ป.แพ่ง’ สกัดฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์ฯ หวังระงับการมีส่วนร่วมของ ‘สาธารณชน’ ในการตรวจสอบทุจริตในภาครัฐ-คุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบ-อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม’
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน พ.ศ. … โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการรักษาประโยชน์สาธารณะ
เช่น การติดตามตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ การคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ การอนุรักษ์หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมหรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น หรือใช้สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ
@ตั้งปม‘สันนิษฐาน’ดำเนินคดีอาญาเพื่อระงับการมีส่วนร่วมฯ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน พ.ศ. … ประกอบด้วย 13 มาตรา ดังนี้
ร่างมาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน พ.ศ. ….”
ร่างมาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมวด 1 การป้องกันการดำเนินคดีอาญาเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน
ร่างมาตรา 3 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น (19) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ (23) ของมาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
““เรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ” หมายความถึงการติดตามตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนรวม การอนุรักษ์หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิของประชาชนในวงกว้าง หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง ที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพหรือความเป็นอยู่ของประชาชน หรือที่ประชาชนเห็นว่ามีความสำคัญ”
ร่างมาตรา 4 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น (5) ของมาตรา 329 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
“(5) ในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ”
ร่างมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 330 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นความจริง ผู้นั้นไม่มีความผิด แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
ร่างมาตรา 6 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 133 ตรี/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 133 ตรี/1 เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นเองหรือปรากฏตามคําขอของผู้ต้องหาว่า คําร้องทุกข์หรือคํากล่าวโทษมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับมิให้ผู้ต้องหามีส่วนร่วมในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวและทำความเห็นเพื่อเสนอพนักงานอัยการ และหากมีการควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาโดยไม่มีหลักประกัน
การร้องทุกข์หรือการกล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญาในความผิดกรรมเดียวโดยดำเนินการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษในหลายท้องที่ หรือการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษในที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องกับมูลคดีหรือภูมิลำเนาของผู้เสียหายหรือของผู้ต้องหา ให้สันนิษฐานว่าเป็นการดำเนินคดีอาญาเพื่อระงับมิให้ผู้ต้องหามีส่วนร่วมในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ”
ร่างมาตรา 7 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 143/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 143/1 เมื่อพนักงานอัยการเห็นเองหรือปรากฏตามคําขอของผู้ต้องหาว่า คําร้องทุกข์หรือคํากล่าวโทษมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับมิให้ผู้ต้องหามีส่วนร่วมในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ให้พนักงานอัยการพิจารณาประเด็นดังกล่าวก่อนพิจารณาสั่งคดีอาญา
ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีอาญาอันเนื่องมาจากการที่ผู้ต้องหาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น หรือใช้สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และผู้ต้องหาได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะให้พนักงานอัยการมีคำสั่งยุติคดี
ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่า
(1) พยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อหามีมูลที่จะฟ้องคดี
(2) ผู้ต้องหาไม่มีข้อต่อสู้อื่นใด และ
(3) การดำเนินคดีอาญาจะก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะที่มากกว่าประโยชน์สาธารณะที่เกิดขึ้นจากการสั่งยุติคดีให้กับผู้ต้องหา ให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดีตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
คำสั่งให้ยุติคดีหรือคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไปตามอำนาจหน้าที่ตามความในมาตรานี้ หากได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่มีความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา”
ร่างมาตรา 8 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 175/3 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 165/3 นับแต่เวลายื่นคําฟ้องไปจนถึงเวลาก่อนการไต่สวนมูลฟ้อง จําเลยอาจแถลงให้ศาลทราบว่าจําเลยถูกโจทก์ฟ้องคดีเพื่อระงับมิให้จําเลยมีส่วนร่วมในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ให้ศาลพิจารณาประเด็นดังกล่าวก่อนไต่สวนมูลฟ้อง กรณีเช่นว่านี้ ศาลอาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือวัตถุมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้ตามที่จําเป็นและสมควร โดยโจทก์และจําเลยอาจถามพยานศาลได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล
เมื่อศาลได้รับคําแถลงขอให้ยุติคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลเริ่มดำเนินการไต่สวนคําแถลงตามวรรคหนึ่ง ภายในสามสิบวันนับจากวันที่ศาลรับคําแถลงของจําเลย หากมีการอุทธรณ์คำสั่งของศาล ให้ศาลเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับจากวันที่ศาลรับอุทธรณ์และดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
หากศาลเห็นว่าจําเลยถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการที่จำเลยใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น หรือใช้สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และจําเลยได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าวในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ และศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่ได้ออกไปให้กับจําเลย
ทั้งนี้ หากศาลเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือเพียงเพื่อยับยั้งหรือขัดขวางการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของจําเลย ศาลอาจสั่งให้โจทก์ชดใช้ค้าเสียหายตามสมควรให้กับจําเลยได้ โดยศาลอาจคำนึงถึงการกำหนดค่าเสียหายเพื่อป้องกันมิให้โจทก์นําคดีมาฟ้องจำเลยใหม่
ในกรณีที่ศาลเห็นว่า
(1) คดีของโจทก์มีมูล
(2) จําเลยไม่มีข้อต่อสู้อื่นใด และ
(3) การดำเนินคดีจะก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะที่มากกว่าประโยชน์สาธารณะที่เกิดขึ้นจากการสั่งยุติคดีให้กับจําเลย ให้ศาลดำเนินการตามมาตรา 167”
@แก้‘ป.แพ่ง’ป้องกันฟ้องคดีแพ่งเชิงยุทธศาสตร์ฯ ระงับการมีส่วนร่วม
ร่างมาตรา 9 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นวรรค 3 และวรรค 4 ของมาตรา 423 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“ถ้าผู้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายตามวรรคหนึ่งมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริงและการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้นในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะตามวรรค 3 หมายความถึงการติดตามตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนรวม การอนุรักษ์หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิของประชาชนในวงกว้าง หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง ที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพหรือความเป็นอยู่ของประชาชน หรือที่ประชาชนเห็นว่ามีความสำคัญ”
ร่างมาตรา 10 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น (15) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
““เรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ” หมายความถึงการติดตามตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนรวม การอนุรักษ์หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิของประชาชนในวงกว้าง หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง ที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพหรือความเป็นอยู่ของประชาชน หรือที่ประชาชนเห็นว่ามีความสำคัญ”
ร่างมาตรา 11 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 24/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“มาตรา 24/1 เมื่อจําเลยเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับมิให้จําเลยมีส่วนร่วมในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ จําเลยอาจยื่นคําร้องขอให้ยุติคดีได้
คําร้องขอให้ยุติคดีตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อศาลภายในหกสิบวันนับจากวันที่จําเลยได้รับสำเนาคําฟ้อง โดยจําเลยจะยื่นคําร้องขอให้ยุติคดีพร้อมกับการยื่นคําให้การ หรือจะยื่นคําร้องขอให้ยุติคดีแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้
เมื่อศาลรับคําร้องขอให้ยุติคดีแล้ว ให้ชะลอบรรดากระบวนพิจารณาคดีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับคําฟ้องของโจทก์ และให้ระยะเวลาและอายุความทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับคําฟ้องของโจทก์สะดุดหยุดอยู่จนกว่าศาลจะมีคำสั่งในคําร้อง
เมื่อศาลได้รับคําร้องขอให้ยุติคดี ให้ศาลเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาคําร้องตามวรรคหนึ่งภายในสามสิบวันนับจากวันที่ศาลรับคําร้องของจําเลย หากมีการอุทธรณ์คำสั่งของศาล ให้ศาลเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับจากวันที่ศาลรับอุทธรณ์และดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว”
ร่างมาตรา 12 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 24/2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“มาตรา 24/2 ในการพิจารณาคําร้องขอให้ยุติคดีตามมาตรา 24/1 หากศาลเห็นว่าจำเลยผู้ยื่นคําร้องได้ถูกโจทก์ฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการที่จำเลยใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียนการพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น หรือใช้สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐหรือใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และจําเลยได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ให้ศาลมีคำสั่งยุติคดี
เมื่อศาลมีคำสั่งยุติคดีแล้ว ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่ได้ออกไปให้กับจําเลย และหากศาลเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือเพียงเพื่อยับยั้งหรือขัดขวางการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของจําเลยตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายตามสมควรให้กับจําเลยได้ โดยศาลอาจคำนึงถึงการกำหนดค่าเสียหายเพื่อป้องกันมิให้โจทก์นําคดีมาฟ้องจำเลยใหม่”
ร่างมาตรา 13 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 24/3 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“มาตรา 24/3 ในการพิจารณาคําร้องขอให้ยุติคดีตามมาตรา 24/1 หากศาลเห็นว่า
(1) คดีของโจทก์มีมูลที่จะชนะคดี
(2) จําเลยไม่มีข้อต่อสู้อื่นใด และ
(3) การพิพากษาให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจําเลยจะก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะที่มากกว่าประโยชน์สาธารณะที่เกิดขึ้นจากการสั่งยุติคดีให้กับจําเลย ให้ศาลมีคําสั่งให้โจทก์ดำเนินคดีต่อไป และเริ่มกระบวนพิจารณาที่ชะลอไว้ และเริ่มนับระยะเวลาและอายุความต่อจากระยะเวลาและอายุความที่สะดุดหยุดอยู่ โดยผลของตามมาตรา 24/1 วรรคสาม
เมื่อศาลมีคำสั่งให้โจทก์ดำเนินคดีต่อไป และศาลเห็นว่าจําเลยยื่นคําร้องขอให้ยุติคดีเพื่อประวิงการพิจารณาคดี ศาลอาจสั่งให้จําเลยชําระค่าเสียหายตามสมควรให้กับโจทก์
ห้ามมิให้รับฟังข้อเท็จจริงและผลแห่งคำสั่งให้โจทก์ดำเนินคดีต่อไปเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีที่โจทก์ฟ้อง ทั้งนี้ คำสั่งให้โจทก์ดำเนินคดีต่อไปไม่มีผลเปลี่ยนแปลงภาระการพิสูจน์ในคดีที่โจทก์ฟ้อง”
“ในปัจจุบันมีการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ซึ่งเป็นการดำเนินคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่ไม่ได้ต้องการหาความยุติธรรมอย่างแท้จริง แต่เป็นการดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการกระทำของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เช่น การติดตามตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ การคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ การอนุรักษ์หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมหรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
โดยใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น หรือใช้สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ
การดำเนินคดีดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเหล่านั้น โดยทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายอย่างมากจากการถูกดำเนินคดี ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนไม่มีทรัพยากรสำหรับการกระทำเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะนั้นแล้ว ยังเป็นการคุกคามประชาชนเหล่านั้นให้รู้สึกหวาดกลัวและทำลายแรงจูงใจของประชาชนในการต่อสู้เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะด้วย ส่งผลให้ประชาชนลังเล เลิกติดตาม หรือยุติการกระทำเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะเหล่านั้น และนําไปสู่การลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ
กฎหมายป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน จึงเป็นกลไกทางกฎหมายที่สำคัญในการรับมือกับการดำเนินคดีในลักษณะนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาประโยชน์ของสังคมและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการช่วยให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายในการรักษาประโยชน์สาธารณะด้วยความมั่นใจและปราศจากความหวาดกลัว โดยเฉพาะสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่มักเป็นเป้าหมายของการดำเนินคดีในลักษณะนี้
นอกจากนี้ กฎหมายนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลระหว่างการรักษาประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลด้วย” เหตุผลประกอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ระหว่างวันที่ 14 มี.ค.-21 เม.ย.2568 ระบุ
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน พ.ศ. ....