'พริษฐ์' อภิปรายนายกฯ ต้นตอความล้มเหลว บริหารเหมือนละคร ไม่จริงใจแก้รัฐธรรมนูญ นำประชาธิไตยถดถอย ใช้ 'ปราบโกง'เป็นเครื่องมือการเมือง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยมีนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการอภิปรายฯ การอภิปรายดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2568 และกำหนดลงมติในวันที่ 26 มีนาคม 2568 โดยในวันแรกของการอภิปราย พรรคฝ่ายค้านได้รับเวลาอภิปราย 17 ชั่วโมง ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ได้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนการอภิปรายในวันที่สอง พรรคฝ่ายค้านได้รับเวลาอภิปราย 11 ชั่วโมง และพรรคฝ่ายรัฐบาลกับคณะรัฐมนตรี ได้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่านายกรัฐมนตรีว่าเป็นต้นตอของความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมืองและการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยชี้ว่านายกฯ ได้ทิ้งโอกาสที่ดีที่สุดที่ประชาชนมอบให้ผ่านการเลือกตั้ง นำไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตน ครอบครัว และเครือข่าย
“อดีตนายกฯ เศรษฐาเคยไปโอ้อวดในเวทีสหประชาชาติ ว่าประเทศไทยกำลังจะได้เริ่มบทใหม่ของประชาธิปไตย วันนี้พี่น้องประชาชนเขาฝากผมมาถามครับ ว่าบทใหม่เริ่มหรือยังครับ” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์กล่าวว่า การบริหารประเทศและการบริหารการเมืองของรัฐบาลแพทองธาร เป็นเหมือนละครเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะมุ่งสู่ความพังพินาศของการเมืองไทย โดยมีการตั้งรัฐบาลโดยอ้างว่าทำเพื่อประเทศชาติ ซึ่งจุดจบของการปฏิรูปการเมืองถูกกำหนดไว้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของรัฐบาลนี้ นอกจากนั้นปากอย่างใจอย่าง ที่นายกฯเสแสร้งว่าอยากปฏิรูปการเมืองแต่ไม่เคยทำให้เห็น
โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส. แพทองธาร สอบตกอย่างชัดเจนในด้านเศรษฐกิจ โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะที่ประชาชนต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เคยสัญญาไว้ที่ 400 บาท และราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าวที่ตกต่ำลงอย่างมากถึง 30-50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน แสดงให้เห็นถึงความล้าหลังของไทย
นายพริษฐ์ กล่าวถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยของไทยที่ถดถอยลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยอ้างอิงดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ที่จัดทำโดย Economist Intelligence Unit ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของประชาธิปไตยไทยที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงรายงานเสรีภาพทั่วโลก (Freedom House) ซึ่งลดสถานะของไทยจาก "มีเสรีภาพบางส่วน" เป็น "ไม่เสรี" ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหาเสรีภาพในประเทศ โดยอ้างถึง "บันได 6 ขั้นสู่ประเทศประชาธิปไตย" ของพรรคเพื่อไทยที่เคยระบุไว้ว่ารัฐบาลยังไม่สามารถก้าวขึ้นไปได้แม้แต่ขั้นเดียว
@ไม่จริงจังแก้ รธน.เหมือนที่หาเสียง
นายพริษฐ์ กล่าวว่า แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะรับปากว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด แต่การกระทำที่ผ่านมากลับไม่สอดคล้องกับคำพูด รัฐบาลยัง “รวมกันอ้างชาติ” อ้างว่าทำเพื่อประเทศชาติแต่ไม่เคยเอานโยบายส่วนรวมเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ นายกฯ เองก็ปากอย่างใจอย่าง เสแสร้งว่าต้องการปฏิรูปการเมืองแต่ไม่เคยออกแรงให้เห็น ชัดที่สุดคือความพยายามในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเทียบกับความพยายามในการผลักดันนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่แม้จะไม่เคยหาเสียงกับประชาชน แต่ถ้าอยากทำก็จะหาทางทำสำเร็จจนได้
นายพริษฐ์ กล่าวว่า นายกฯ ปล่อยปละละเลยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ ส.ว. พยายามจะรื้อ พ.ร.บ. ประชามติ ของ ครม. นายกรัฐมนตรีกลับลอยตัวเหนือปัญหา โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของสภา ทั้ง ๆ ที่ความขัดแย้งระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ก็คือความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเอง
นายกรัฐมนตรีไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น การโน้มน้าวประธานรัฐสภาให้บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา หรือการรวบรวมเสียงของสมาชิกรัฐสภาในซีกรัฐบาลให้เพียงพอต่อการผ่านร่างในวาระที่ 1
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความขัดแย้งภายในรัฐบาลเองในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกตัวอย่างกรณีที่ ครม. ไม่ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลกลับมาหักกันเองในสภา จนทำให้สภาล่ม อีกทั้งนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ขัดแย้งกับรองนายกรัฐมนตรีในเรื่องการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายพริษฐ์เปรียบเทียบความพยายามในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับความพยายามในการผลักดันนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยกล่าวว่ารัฐบาลทุ่มเทความพยายามกับเรื่องหลังมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน
“แน่จริงท่านนายกฯ ยอมรับตรงๆ เลยว่าพอได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้สนใจเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีกต่อไป แน่จริงท่านนายกฯ ยอมรับตรงๆ ไปเลยว่าไปทำดีลให้คุณพ่อกลับบ้านมาแล้ว ส่วนหนึ่งของดีลนั้นคือท่านต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ 60 เอาไว้ให้ได้” นายพริษฐ์ กล่าว
@ใช้'ปราบโกง'เป็นเครื่องมือทางการเมือง
นายพริษฐ์ กล่าวถึงการทำงานของ น.ส.แพทองธารในประเด็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันว่า รัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และยังนำเรื่องการปราบโกงมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยที่นายกรัฐมนตรีไม่เคยลงไปคลุกคลีกับปัญหาทุจริตอย่างจริงจัง และยังส่งรัฐมนตรีไปอ่านสคริปต์แทนในงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทุจริต
นายพริษฐ์ ยังได้กล่าวถึงพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อสื่อมวลชนว่า นายกรัฐมนตรีมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสื่อมวลชน เช่น การตอบโต้สื่อมวลชนด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมเมื่อถูกตั้งคำถามที่ไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง เมื่อนักข่าวพยายามทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องบัญชีทรัพย์สิน ก็ปิดกั้นไม่ให้ถามและบอกว่า "ให้ช่วยเซฟดิฉันด้วย"
"นายกฯ อาจเคยชินกับการเคยมีบริษัทสื่อของตัวเองที่สามารถสั่งได้หรือเปล่า ถึงได้หลงคิดไปว่านักข่าวเป็นลูกน้อง นักข่าวพี่น้องสื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องนายกฯ เขามีหน้าที่ปกป้องความจริง และหากนายกฯอยากจะให้พี่น้องสื่อมวลชนทำหน้าที่ในการปกป้องและเปิดเผยความจริงได้ สิ่งที่ควรจะทำคือการคุ้มครองเสรีภาพสื่อและอำนวยความสะดวกให้กับสื่อทุกสำนักโดยไม่เลือกปฏิบัติ" นายพริษฐ์ กล่าว