‘กตป.’ จี้ ‘กสทช.’ ติดตามผลการปฏิบัติตาม ‘มาตการเฉพาะ’ ควบรวม‘เน็ตบ้าน-มือถือ’ อย่างเคร่งครัด ขณะที่ผลสำรวจฯด้านอินเตอร์เน็ต พบปัญหา ‘เน็ตช้า-ค่าใช้จ่ายแพง-โฆษณาออนไลน์มากเกินไป” ด้าน ‘กตป.กิจการกระจายเสียง’ กระทุ้งเร่งสรรหา ‘เลขาฯกสทช.’ หลังล่าช้ามา 5 ปี
................................
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) แถลงรายงานการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการ ตามมาตรา 73 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประจำปี 2567 ต่อสาธารณะ โดยมีกรรมการ กสทช. และภาคประชาชนร่วมรับฟัง 200 คน รวมทั้งถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก กตป. ด้วย
น.ส.อารีวรรณ จตุทอง กตป.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า กตป. มีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการและการบริหารในระดับนโยบายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) โดยเห็นว่างานเร่งด่วนที่ กสทช. ต้องเร่งดำเนินการ คือ การจัดทำแผนแม่บทการป้องกันปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ และเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ล้าสมัย
ขณะเดียวกัน กสทช.ต้องเร่งรัดการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคให้รวดเร็วมากขึ้น และต้องติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรการการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (DTAC) และติดตามการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์ เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด (AWN) ในเครือ AIS และบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จํากัด (มหาชน) (3BB) เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มงวด
“ในประเด็นควบรวม AWN และ 3BB หรือการควบรวมอินเตอร์เน็ตบ้านนั้น ผลศึกษาฯพบว่า ประชากรมากกว่าครึ่ง ไม่ได้รับทราบเกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB และยังพบว่าผู้บริโภคไม่แน่ใจในผลกระทบของการควบรวมฯว่า จะดีขึ้นหรือแย่ลง รวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับการผูกขาดในธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน
ที่สำคัญมีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และการขาดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภค อีกทั้งมีความเห็นว่าจะต้องมีการติดตามและประเมินผลกระทบทุกๆ 6 เดือน อย่างต่อเนื่อง และต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงการร้องเรียน หากมีประสบปัญหาในการใช้อินเตอร์เน็ตบ้าน” น.ส.อารีวรรณ ระบุ
น.ส.อารีวรรณ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กตป.เคยเชิญอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการควบรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB เข้ามาให้ข้อมูลฯ โดยมีอนุกรรมการฯเข้ามาชี้แจง 1 ราย ซึ่งอนุกรรมการฯรายนี้ได้แสดงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการควบรวมกิจการฯ ที่แต่งตั้งโดย กสทช. แต่ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการฯชุดนี้ มีอายุการทำงานเพียง 6 เดือนเท่านั้น
“ได้ถามไปว่า คณะอนุกรรมการฯชุดนี้ มีอายุนานแค่ไหนในการติดตามประเมินผลฯ เขาก็ชี้แจงว่า เป็นไปตามคำสั่ง คือ มีอายุ 6 เดือน เมื่อถามว่า มีการประชุมกันไปแล้วกี่ครั้ง เขาบอกว่าประชุมกันไปแค่ครั้งเดียว จึงได้ถามต่อไปว่าแล้ว อย่างนี้จะมีรายงานออกมาอย่างไร จะติดตามประเมินผลกันแค่ครั้งเดียวเหรอ กตป.ได้หยิบยกเรื่องนี้มาหารือกัน และนำไปสู่ข้อเสนอที่ว่าจะต้องมีการติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไขการควบรวมอย่างต่อเนื่อง” น.ส.อารีวรรณ กล่าว
ส่วนการติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรการการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ระหว่าง TRUE-DTAC นั้น น.ส.อารีวรรณ ระบุว่า กตป.ได้ติดตามเรื่องนี้เช่นกัน และทราบว่า TRUE ได้ขอให้ กสทช. แก้ไขเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะกรณีการควบรวมฯ โดยอ้างว่าเงื่อนไขการควบรวมระหว่าง TRUE-DTAC มีความแตกต่างจากการควบรวมระหว่าง AWN-3BB จึงขอให้ กสทช.ไปดูและติดตามอย่างเข้มงวด ซึ่งล่าสุดทราบว่า บอร์ด กสทช. ยังไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณา
ด้าน รศ.คลินิก พล.อ.สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กตป.ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า ในปี 2568 จะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่วิทยุหรือวิทยุชุมชน แต่เนื่องจากจำนวนคลื่นมีเพียง 2,570 คลื่นความถี่ และมีคลื่นที่ให้ใบอนุญาตไปแล้ว 839 คลื่นความถี่ จึงทำให้สถานีวิทยุชุมชนบางแห่งไปต่อไม่ได้ และจะได้รับความเสียหายจากการลงทุนเครื่องวิทยุ อุปกรณ์ และเสาสัญญาณ ที่ลงทุนไปแล้ว คิดเป็น 2-5 ล้านบาท/สถานี จึงขอให้ กสทช.มีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
รศ.คลินิก พล.อ.สายัณห์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กสทช. มีปัญหาใหญ่ๆ 2 เรื่อง และปัญหาดังกล่าวทำให้การขับเคลื่อนภารกิจในการส่งเสริมฯและกำกับดูแลใน 3 เสาหลัก คือ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ไม่เป็นเอกภาพและขาดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.ประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของประธาน กสทช. ที่มีลักษณะต้องห้าม และ 2.การสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ล่าช้ามาเกือบ 5 ปีแล้ว
“เรื่องประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามนั้น รายละเอียดต่างๆเหล่านี้อยู่ในรายงานของ กมธ.ไอซีที (คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม) ของวุฒิสภาแล้ว และสรุปจบไปแล้ว จึงอยากให้คนที่รับผิดชอบ คือ นายกฯ ซึ่งรับผิดชอบและมีอำนาจรักษาการ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างสิ้นสุดแล้ว
ส่วนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ซึ่งล่าช้ามา 5 ปีแล้วนั้น ประเด็นนี้ มีการฟ้องศาลกันอยู่หลายประการ แต่ในฐานะ กตป. อยากให้ กสทช. ทั้ง 7 ท่าน ดำเนินการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ให้ได้รวดเร็วที่สุด เพราะเลขาธิการ กสทช. มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร การที่ไม่มีเลขาธิการ กสทช. ตัวจริง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม จึงเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่จะต้องเร่งทำเรื่องนี้” รศ.คลินิก พล.อ.สายัณห์ กล่าว
ผศ.ดร.สุทิศา รัตนวิชา กตป.ด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า กตป.มีข้อเสนอว่า กสทช.ควรส่งเสริมการแข่งขันและลดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม การยกระดับการบริหารโทรคมนาคมให้ทันสมัยและตอบโจทย์ประชาชน และพัฒนากระบวนการภายในเพื่อยกระดับการดําเนินงานด้านโทรคมนาคม รวมถึงเพิ่มการถึงการให้บริการโทรคมนาคม นอกจากนี้ กสทช.ต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่น ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการขโมยข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญ เช่น การบริหารคลื่นความถี่ การกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการ และการกระจายบริการโทรคมนาคมให้ทั่วถึง ยังคงลําบากและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพบริการและการตอบสนองต่อประชาชน
นอกจากนี้ จากการสํารวจความคิดเห็นของประชาชน 2,689 คน พบว่าปัญหาหลักในการใช้งานอินเทอร์เน็ต คือ ความล่าช้าในการเชื่อมต่อ ร้อยละ 73.9 ,ค่าใช้จ่ายแพง ร้อยละ 62.1 และโฆษณาออนไลน์มากเกินไป ร้อยละ 38.2 โดยแนวโน้มปัญหาเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566
ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กตป.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ในปี 2572 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะหมดอายุ แต่ปรากฏว่า กสทช. ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ กตป.จึงเห็นว่า กสทช. ควรขยายใบอนุญาตทีวีดิจิทัลออกไปก่อนจนกว่าจะมีนโยบายที่ชัดเจน และควรใช้นโยบายผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งเคยเสียค่าธรรมเนียมในอัตราสูง เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง
ดร.จินตนันท์ ระบุว่า กสทช. ต้องเร่งรัดออกกฎหมาย หรือร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มออนไลน์ (OTT) โดยเร็ว เนื่องจากในปัจจุบันการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล ,การเร่งรัดปรับปรุงประกาศ ข้อบังคับ หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ทันสมัย เพื่อบริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว การจัดทำนโยบาย หรือประกาศทิศทางเนื้อหาของการให้ความรู้ประชาชนในชาติ ควรมองในแง่ส่งเสริมสนับสนุนมากกว่าการกำกับดูแล
การปรับปรุงวัดเรตติ้ง (Rating) ให้สะท้อนภาพจริงของอุตสาหกรรม ,การใช้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อสนับสนุนการรวมตัวกันขององค์กรสื่อ เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลทางจรรยาบรรณ และสนับสนุนการสร้างรายการสำหรับเด็ก และการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการให้บริการล่ามภาษามือ เป็นต้น
ขณะที่ พล.ร.อ.ประสาน สุขเกษตร ประธาน กตป. และ กตป.ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า กตป. มีข้อเสนอแนะไปยัง กสทช. 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ขอให้เร่งปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2.การบูรณาการเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ จากโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ชายขอบ
3.เร่งรัดและติดตามการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 77 จังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 24 ธ.ค.2567 และ 4.การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดําเนินงานระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความแม่นยําและประสิทธิภาพของระบบ และทำให้บริการระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ทุกชุมชน