สภาผู้บริโภคยื่นหนังสือค้านมาตรการร่วมจ่าย Co-payment ชี้หวั่นกระทบสิทธิการรักษาพยาบาล ด้าน คปภ.ยันไม่บังคับใช้กับทุกกรมธรรม์ เป็นเพียงทางเลือกในการทำประกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 สภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในกรุงเทพมหานคร เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ เลขาธิการคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อเสนอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล Co-payment ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากกรณีที่อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ และอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค ได้จัดทำข้อเสนอต่อ คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย
ขอให้ชะลอการมีส่วนร่วมจ่ายประกันภัย หรือ Co-payment เนื่องจากเห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมเกินความจำเป็นได้ จึงได้ยื่นหนังสือข้อเสนอไปตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจาก คปภ. ภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือนั้น ส่งผลให้สภาผู้บริโภคออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนในวันที่ 20 มีนาคม 2568
นายภัทรกร เปิดเผยว่า กระทั่งช่วงค่ำวันที่ 19 มีนาคม สภาผู้บริโภคได้รับหนังสือตอบกลับจาก คปภ. ชี้แจงข้อมูลหลักเกณฑ์และเหตุผลการให้มีค่าใช้จ่ายร่วม Co-payment ของสัญญาประกันภัยสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาการถูกปฏิเสธต่ออายุประกันสุขภาพของผู้เอาประกันภัยที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมสูง และเพื่อควบคุมต้นทุนประกันภัยจากกรณีเรียกร้องผลประโยชน์จากโรคเล็กน้อยโดยไม่จำเป็น
คำสั่งนี้กำหนดให้บริษัทประกันต้องต่ออายุกรมธรรม์ตามเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมทั้งสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายร่วม Co-payment สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับความคุ้มครอง หากพบว่าผู้เอาประกันมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมสูงเกิน 400% ของเบี้ยประกันรายปี เพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิประกันอย่างเหมาะสมและควบคุมค่าใช้จ่ายโดยรวม
นายภัทรกร ให้ความเห็นว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแก่ประชาชน ทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ยากขึ้น และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว อีกทั้งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความชัดเจนของมาตรการรองรับและการประเมินผลกระทบที่รอบด้าน
“การผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจยังเปราะบางเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อย แต่ยังเป็นการถอยหลังของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน” นายภัทรกรกล่าว
ด้าน น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า จากสถิติของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2566 พบว่าโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยใน 10 อันดับแรก ได้แก่ โรคปอดบวม อาการท้องร่วง กระเพาะและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ รวมถึงโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุอย่างต้อกระจก และเบาหวาน แม้จะเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา แต่อาการเหล่านี้กลับไม่ได้อยู่ในกลุ่มโรคร้ายแรงที่การเคลมจะไม่ถูกนับเข้าเงื่อนไข Co-payment
อีกทั้ง การพิจารณาวินิจฉัยโรคว่า ผู้รับการรักษาสมควรจะเข้าเป็นผู้ป่วยในหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของแพทย์ในการวินิจฉัยและตัดสินใจรักษาเป็นปัจจัยสำคัญ
นอกจากนี้ การที่รัฐไม่มีการควบคุมค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงค่ายาและค่าบริการที่ไม่มีเพดานราคากำหนด ก็เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคและทำให้ปัญหาลุกลามไปถึงภาคธุรกิจประกันภัยจึงควรที่จะมีการพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ร่วมด้วย
“ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนสามารถตั้งราคาค่ารักษาได้เองโดยไม่มีการกำกับจากรัฐอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาที่สูงลิ่ว และยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งยังมีการเรียกเก็บค่ารักษาที่ไม่โปร่งใส หากรัฐไม่เร่งเข้ามาดูแลและกำหนดมาตรฐานค่ารักษาให้ชัดเจน ผู้บริโภคจะยังคงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบต่อไป” น.ส.มลฤดีกล่าว
สภาผู้บริโภคขอเรียกร้องให้ คปภ. ทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างโปร่งใส และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนเป็นอันดับแรก โดยมีข้อเสนอดังนี้
-
ขอให้ชะลอการบังคับใช้เพื่อทบทวนหลักเกณฑ์ Co-payment โดยให้มีความเห็นร่วมที่แท้จริงจากทุกภาคส่วน
-
ขอให้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคโดยตรง
-
ขอให้ศึกษาและติดตามปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่ไม่เป็นธรรมในโรงพยาบาลเอกชน และแนวทางแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินความจำเป็น ซึ่งอาจเป็นภาระเกินควรต่อผู้บริโภค
-
ขอให้นำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นและผลการศึกษาต่อสาธารณะในทันที
ขณะที่ นายอาภาพร ปานเลิศ รองเลขาธิการด้านกำกับธุรกิจประกันภัย ตัวแทนจาก คปภ. กล่าวชี้แจงว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมาตรการ Co-payment ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้บริโภคและตัวแทนประกันภัย
นายอาภาพร กล่าวย้ำว่า Co-payment ไม่ได้ถูกบังคับใช้กับทุกกรมธรรม์ แต่เป็นเพียง ทางเลือกหนึ่ง ในการทำประกันสุขภาพ
ทั้งนี้ ไม่ได้มีการยกเลิกผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้ และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด คปภ. จะเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมดำเนินบทลงโทษกับตัวแทนประกันที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด
สำหรับกรณีที่ผู้บริโภคถูกเสนอขายประกัน ด้วยการกดดันหรือเร่งรัดให้ตัดสินใจซื้อ Co-payment คปภ. ยืนยันว่า สามารถร้องเรียนและขอยกเลิกได้ โดยติดต่อ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502
ทั้งนี้ หลังจากสภาผู้บริโภคได้ร่วมหารือ คปภ. ระบุว่า จะนำเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคมาพิจารณาอีกครั้ง โดยสภาผู้บริโภคเห็นว่ามาตรการ Co-payment มีระยะเวลา 1 ปี ก่อนที่ผู้บริโภคจะเริ่มต้องร่วมจ่ายในปีที่ 2 จึงยังมีโอกาสในการทบทวนเงื่อนไข นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันการตั้งราคาสูงเกินจริง ซึ่งเป็นภาระต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ทางสภาผู้บริโภคจะติดตามข้อเสนอที่ยื่นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใน 60 วัน โดยเรียกร้องให้ปรับเงื่อนไขของ Co-payment ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมี ผลกระทบในวงกว้าง ต่อประชาชนทั่วไป