‘ธปท.’ ชี้แก้ปัญหา 'หนี้ครัวเรือน' อย่าง ‘ยั่งยืน’ ต้องไม่สร้าง moral hazard-แก้ตรงจุด พร้อมระบุขอรอความชัดเจนรูปแบบ ‘ซื้อหนี้ประชาชน’ ก่อน
..................................
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ข้อความผ่านกลุ่มไลน์ 'BOT PR 2014' ของ ธปท. โดย ธปท.ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่สอบถามในประเด็นการซื้อหนี้ประชาชนและล้างประวัติเครดิตบูโร ว่า ขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนของรูปแบบประเภทหนี้ที่จะเข้าข่าย และรายละเอียดต่างๆก่อน ซึ่งที่ผ่านมาในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน นั้น ธปท. คำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1.ต้องสนับสนุนวินัยทางการเงินที่ดี ไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิด จนทำให้เกิดปัญหา moral hazard กล่าวคือ ต้องมีกลไกส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยและมีความรับผิดชอบทางการเงิน ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเป็นหนี้ซ้ำซ้อนในอนาคต
2.สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ในระยะข้างหน้า กล่าวคือ ความช่วยเหลือที่ให้ต้องไม่ไปลดทอนความแม่นยำในการประเมินความเสี่ยงของเจ้าหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม
3.ต้องแก้ปัญหาหนี้อย่างตรงจุด และเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบการเงินในภาพรวม โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรและงบประมาณของประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยมีความซับซ้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการช่วยกันแก้ไขปัญหา การออกแบบมาตรการจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงสาเหตุของปัญหา หลักการของการทำมาตรการ และผลข้างเคียงอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลสูงสุดแก่ทั้งลูกหนี้และระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีปราศรัยฯ ที่ จ.พิษณุโลก โดยระบุตอนหนึ่ง ว่า "ผมอยากเห็นบ้านเมืองในยุคพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นยุคศิวิไลซ์ เหมือนคำทำนาย จะเป็นศิวิไลซ์ได้จะต้องอาศัยพี่น้องประชาชน ซึ่งมีหนี้จำนวนมาก หนี้ประชาชน จะต้องยกหนี้ ยกออกจากเครดิตบูโรให้ทั้งหมด โดยไม่ต้องชำระ เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่รัฐแก้ปัญหาให้ โดยไม่ใช้เงินรัฐสักบาท”
อ่านประกอบ :