‘SCB EIC’ เตือนรับซื้อ ‘หนี้ประชาชน’ ออกจากระบบ ‘ธนาคาร’ ต้องระวังการเกิด Moral Hazard คาดเศรษฐกิจปีนี้โต 2.4% จับตา ‘กนง.’ ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้
......................................
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวความคิดให้มีการรับซื้อหนี้เสียของประชาชนทั้งหมดออกจากระบบธนาคาร ว่า คงต้องขอรอดูความชัดเจนของแนวคิดดังกล่าวว่า มีรายละเอียดอย่างไร แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การเกิด Moral Hazard หรือ 'ภาวะภัยทางศีลธรรม'
นายยรรยง ระบุว่า ไม่ว่ารูปแบบการรับซื้อหนี้เสียของประชาชนดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบใด เช่น การจัดตั้ง National AMCs แต่ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหานี้มีความท้าทายมากกว่าปี 2540 เนื่องจากลูกหนี้บุคคลมีจำนวนรายค่อนข้างมาก แตกต่างจากเมื่อปี 2540 ที่เป็นการแก้หนี้ของธุรกิจที่มีจำนวนรายน้อยกว่า และในการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนนั้น ลูกหนี้บางส่วนที่ไปต่อไม่ไหว จะต้องใช้มาตรการหรือนโยบายแบบเฉพาะจุด
“โดยหลักการแล้ว หากจะทำให้การแก้ปัญหาหนี้มีความยั่งยืน สิ่งที่ต้องทำ คือ เพิ่มรายได้ เพิ่มความสามารถในการชำหนี้ ซึ่งต้องทำควบคู่กับมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น โครงการคุณสู้เราช่วย และต้องมีการปฏิรูปบางอย่าง เช่น เรื่องในชั้นศาล เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้” นายยรรยง กล่าว พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาภาคการเงินได้ช่วยประคับประคองลูกหนี้รายย่อยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ฯอยู่แล้ว
นายยรรยง กล่าวต่อว่า SCB EIC ยังคงมุมมองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 2.4% โดยเศรษฐกิจยังคงได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสที่เหลือ และการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการเร่งเบิกจ่าย อย่างไรก็ดี ผลกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้เงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ส่วนนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯนั้น จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนของไทย เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยพึ่งตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น พร้อมกับการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นด้วยหลังจากจีนมีแผนทยอยลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ กระจายไปตลาดอื่น
“ท่ามกลางแรงกดดันจากภายนอกสูงขึ้น ภาคการผลิตไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบ ประกอบกับเทรนด์ธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยเริ่มเปลี่ยนไป จากการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เปลี่ยนเป็นการเข้ามาแข่งขันกับตลาดในประเทศมากขึ้น ภาพการลงทุนภาคเอกชน แม้จะกลับมาขยายตัวในปีนี้จากที่หดตัวแรงในปีก่อน แต่เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าทุนตามกระแสการลงทุนทางตรงจากต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนในประเทศด้านอื่นยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก” นายยรรยง ระบุ
นายยรรยง ระบุว่า SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลก สะท้อนอาการแผลเป็นโควิดหลายมิติ ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข ทั้งจาก
(1) แผลเป็นภาคธุรกิจ : รายได้ธุรกิจฟื้นแบบ K-Shape สัดส่วนจำนวนบริษัทผีดิบ (Zombie firm) ยังสูงกว่าก่อนโควิด โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก
(2) แผลเป็นตลาดแรงงาน : แม้ภาพรวมการจ้างงานดีขึ้นต่อเนื่อง แต่คุณภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับแย่ลง โดยแรงงานนอกระบบสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มีรายได้ต่ำกว่าแรงงานในระบบเกือบเท่าตัว
(3) แผลเป็นภาคครัวเรือน : สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ที่ยังสูงเกือบ 90% แม้จะทยอยลดลงบ้าง แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อใหม่หดตัว ทำให้แม้การบริโภคภาคเอกชนปีนี้จะมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากโครงการเงินโอน 10,000 บาทเฟสที่เหลือ แต่ปัจจัยรายได้ฟื้นช้า หนี้สูง และการเข้าถึงสินเชื่อที่ลดลงจะยังคงกดดันการบริโภคอยู่
(4) แผลเป็นภาคการคลัง : เห็นได้จากหนี้สาธารณะสูงขึ้นมากเทียบก่อนโควิดและมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้ 70% ในอีกไม่กี่ปี แม้รัฐบาลจะขาดดุลสูงในปีงบประมาณ 2568 นี้ แต่กรอบงบประมาณจะสะท้อนข้อจำกัดการคลังในระยะปานกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างของประเทศที่อ่อนแอเช่นนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบ K-Shape และมีแนวโน้มเติบโตต่ำในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ SCB EIC ประเมินคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ไปอยู่ที่ 1.5% ณ สิ้นปี สาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) ภาวะการเงินจะยังตึงตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการเงินสูง สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ขณะที่การขายหุ้นกู้ของธุรกิจที่มีอันดับเครดิตไม่สูงเริ่มมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วเทียบภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา
2) เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศเช่นนี้
“ในระยะข้างหน้า SCB EIC มองว่า ไทยต้อง “เร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน” ทั้งในระยะสั้นและยาวควบคู่กันไป พร้อมการสื่อสารสาธารณะ ในการผลักดันนโยบายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ทรัพยากรภาครัฐให้ตอบโจทย์การปรับตัวของประเทศ โดยเร่งดำเนินการผ่านนโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และนโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่างๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ” นายยรรยง ระบุ