ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ-รมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะ คณะกรรมการคดีพิเศษ ลงมติรับ คดีฮั้วเลือก สว. เป็นคดีพิเศษ ตามพ.ร.บ.คดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ฐานความผิดฟอกเงิน-ความผิดอาญาที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยมติเสียงข้างมาก 11 เสียง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 มีนาคม 2568 เวลา 09.20 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เป็นประธานการประชุม กรรมการ กคพ. เพื่อพิจารณาและลงมติกรณีคำร้องฮั้วการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 รับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ภายหลังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะต้องใช้เสียงจากที่ประชุม กคพ.ตั้งแต่ 15 เสียงขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็นมติรับไว้เป็นคดีพิเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กคพ.ในครั้งนี้ มีกรรมการ กคพ.ที่มาด้วยตัวเองและส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมมีจำนวน 18 คน จากทั้งหมด 22 คน โดยกรรมการ กคพ.ที่ลาการประชุมและไม่ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมมีจำนวน 4 คน ได้แก่ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กรรมการ กคพ.โดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ราย คือ พลตำรวจโท สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ พลตำรวจเอก สุทิน ทรัพย์มม่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา กรรมการอีกหนึ่งคนลาระหว่างประชุม
ภายหลังจากใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง นายภูมิธรรมแถลงภายหลังการประชุม กคพ. ว่า ที่ประชุม กคพ. มีมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากของที่ประชุมให้เป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง จำนวน 11 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากองค์ประชุม 18 เสียง
ทั้งนี้ การรับเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 (1) โดยใช้เสียงข้างมากรับเป็นคดีพิเศษ อาศัยพ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 11 กำหนดให้การประชุม กคพ. ให้นำบทบัญญัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาบังคับใช้โดยอนุโลก ซึ่งให้นับเสียงข้างมากของที่ประชุมตัดสิน
นายภูมิธรรมแถลงรายละเอียด (ถอดเทปต่อคำ) ว่า ประเด็นแรก กคพ.ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่อง สว.ใดๆ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายพ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ที่สอดคล้องกับความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ซึ่งระบุว่าการได้ทรัพย์สินที่เป็นการจูงใจให้เลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครเป็นความผิดฐานฟอกเงินด้วย
“ขอย้ำว่า การพิจารณาคดีว่าเป็นคดีพิเศษครั้งนี้ ผ่านการพิจารณาของบอร์ดกคพ.ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากหากหลายที่ ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจจากคนใดคนหนึ่ง อันสะท้อนให้เห็นถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายทั้งหมด เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง”นายภูมิธรรมกล่าว
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ประเด็นที่สอง บอร์ดกคพ.ขอย้ำว่า การพิจารณาในวันนี้ ไม่ใช่การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่อย่างใด ในฐานะผู้ดูแลจัดการการเลือกตั้ง
“ทางเราเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องคดีอาญาเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษเท่านั้น เป็นการทำงานคู่ขนานประสานงานร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายของตัวเองที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ พี่น้องประชาชน เพราะดีเอสไอก็ได้รับการร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งจะนิ่งเฉยก็ไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผลเสียจะเกิดกับประชาชน”นายภูมิธรรมกล่าว
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ประเด็นที่สาม ดีเอสไอรับเรื่องนี้ไว้ไม่ได้หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว แต่ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายอีกมากที่จะบอกว่าผิดจริง รัฐธรรมนูญรับรองไว้ว่า ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่อย่าลืมว่า คดีนี้เป็นคดีมหาชน เราทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง
นายภูมิธรรมกล่าววว่า องค์ประชุมมีทั้งหมด 18 คน ได้มีมติชี้ขาดในกรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลคน หรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ ที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสว.2567 ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสมอมาเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ส่วนคดีอาญาใดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับคดีพิเศษดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคสอง ซึ่งทำการสอบสวนต่อไป ทั้งนี้ หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบการกระทำความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.พ.ศ.2561 มาตรา 77 วรรคหนึ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกกต.ให้แจ้งกกต.ทราบเพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป โดยไม่ต้องมีมติให้คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แต่อย่างใด
“เราได้พิจารณาเห็นชอบให้เป็นคดีพิเศษ 11 เสียง ไม่เห็นชอบให้เป็นคดีพิเศษ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ด้วยเหตุผลที่บางท่านจะมีบทบาทเกี่ยวข้องในการชี้ขาดหลายเรื่องต่อไปจึงงดออกเสียง”นายภูมิธรรมกล่าว
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นคดีพิเศษอัตโนมัติ ท้ายพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้ได้เลย แต่เนื่องจากมีข้อมูลบางประการที่เป็นข้อสงสัย ซึ่งการชี้ขาดข้อสงสัยนั้น โดยอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งของผู้เข้าประชุม กพค. ซึ่งกรรมการ กคพ.เสียงส่วนใหญ่ ชี้ขาดแล้วว่าเป็นคดีพิเศษ ตามท้ายพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ต้องมาตามมาตรา 21 วรรคสอง
พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า หลังจากนี้เหมือนเป็นหลักค้ำประกันให้อธิบดีดีเอสไอรับเรื่องเป็นคดีพิเศษ โดยขอให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวนด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ อำนวยการยุติธรรม และให้การปฏิบัติงานโปร่งใส โดยขั้นตอนต่อไป ดีเอสไอจะไปตั้งคณะพนักงานสอบสวนสู่กระบวนสอบสวนต่อไป
“ไม่ใช่ว่าข้อหาที่เป็นฐานฟอกเงินเกิดมาจากฐานอั้งยี่ ซึ่งก็มีการอภิปรายความผิดอาญาอื่นมาประกอบ ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวน และคณะกรรมการเห็นว่า ความจริงเป็นคดีพิเศษโดยอัตโนมัติแล้วฐานฟอกเงิน แต่ก็มีเหตุสงสัยเรื่องรายละเอียดว่ามูลค่าทรัพย์สินน่าเชื่อว่าเกินกว่า 300 ล้านบาทหรือไม่ เพราะดีเอสไอก็ดูเส้นเงินด้วยกับพยานบุคคลว่าเกินก็เลยขอให้คณะกรรมการคดีพิเศษชี้ขาด ซึ่งคำชี้ขาดของคณะกรรมการคดีพิเศษในทางกฎหมายถือว่าเป็นที่ยุติ”พันตำรวจเอก ทวีกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรมและพันตำรวจเอก ทวี แถลงไม่ตรงกัน เรื่องฐานความผิดอั้งยี่ ขณะที่แหล่งข่าวที่เป็นกรรมการ กคพ. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า บอร์ดคดีพิเศษรับไว้เป็นคดีพิเศษฐานความผิดฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นเป็นคดีพิเศษและความผิดอื่นที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกับฐานฟอกเงิน
สำหรับ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) อยู่ในหมวด 3 การสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ บัญญัติว่า คดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพ.ร.บ.นี้ ได้แก่คดีความผิดทางอาญา
(1) คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพ.ร.บ.นี้ และที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของ กคพ. โดยคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(ก) คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวน สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
(ข) คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
(ค) คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
(ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
(จ) คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้สงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า น่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
ทั้งนี้ ตามรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่กคพ.กำหนด
ทั้งนี้ กรรมการ กคพ.จำนวน 22 คน ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ พันตำรวจเอก ทวีสอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธาน พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการและเลขานุการ
กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ส่งตัวแทนมาประชุม) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด
พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ลาประชุม) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ส่งตัวแทนมาประชุม) พลเอก พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ส่งตัวแทนมาประชุม) นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายเพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐศาสตร์ นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงินการธนาคาร นางดวงตา ตันโช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย นางทัชมัย ฤกษะสุต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย พลตำรวจเอก สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการสอบสวนคดีอาญา (ลาประชุม)
พลตำรวจโท สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ลาประชุม) พลตำรวจเอก มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล