‘นายกฯ’ สั่งศึกษาแนวคิดสร้างกำแพง ‘ไทย-กัมพูชา’ ป้องกันข้ามแดนผิดกฎหมาย-ลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี พร้อมสั่ง ‘มหาดไทย’ ศึกษาติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณพรมแดน 'ช่องทางธรรมชาติ'
.............................................
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ที่ประชุม ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาเพิ่มเติมกรณีที่มีการเสนอแนวคิดก่อสร้างกำแพงระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา เพื่อป้องกันการข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย การเดินทางของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการค้าขายยาเสพติดระหว่างชายแดน และสินค้าหนีภาษีต่างๆ
“นายกฯขอให้ไปศึกษา โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม ประสานกับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และพูดคุยกับประเทศกัมพูชาว่า ถ้าจะทำ ทำรูปแบบไหน ผลจะออกมาเป็นอย่างไร แก้ปัญหาได้หรือไม่ ขอย้ำว่าเป็นการศึกษาฯ เพื่อปิดช่องทางต่างๆในการเดินทางออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพมด หรือกองทัพอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นแนวคิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาต่อไป” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ได้ร้องขอให้มีการติดตั้งอุโมงค์เอกซเรย์ สำหรับใช้ในด่านศุลกากรบริเวณด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่จังหวัดสุรินทร์ลงมา ทั้งนี้ นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาว่าอุโมงค์เอกซเรย์ดังกล่าวมีราคาเท่าไหร่ ต้องใช้จำนวนเท่าไหร่ และจะสามารถป้องกันสินค้าหนีภาษี โดยเฉพาะยาเสพติด และบุหรี่ไฟฟ้า ได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายกฯย้ำว่า ขอให้มีการตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มข้น โดยหากสินค้าเข้ามาในลักษณะตู้คอนเทนเนอร์ ก็ตรวจ เพราะในใบสินค้าจะมีการแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นสินค้าอะไร หากสินค้าใดมีความน่าสงสัย ต้องเปิดตู้ตรวจดู
นอกจากนี้ นายกฯยังสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะตรวจสอบว่า คนเข้า-ออกตามพรมแดนต่างๆ เดินทางกันตรงไหน แบบไหน และอย่างไร โดยขอให้พิจารณาติดตั้ง CCTV ที่มีเทคโนโลยีสำคัญ คือ AI ในบริเวณพรมแดนจุดต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเคยศึกษาพบว่า พรมแดนต่างๆที่เป็นช่องทางตามธรรมชาติ 51 อำเภอ มีช่องทางย่อยออกอีกเป็น 100 จุด
“นายกฯให้ไปศึกษา โดยเฉพาะให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไปติดตามและพิจารณาตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม ที่มีเทคโนโลยีสำคัญ คือ AI เช่น เมื่อเดินเข้าไป กล้องจะจับใบหน้า แล้วจะรู้ว่าเลยว่า เป็นใคร มาจากไหน อย่างไร และสอบประวัติได้เลย ไม่ใช่แค่จับภาพเท่านั้น” นายจิรายุ กล่าว
@‘รมว.คลัง’รายงานแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ing Shinawatra’ โดยมีเนื้อหาว่า “ในการประชุม ครม. สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้ให้ท่านรองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิร ทำแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ GDP โต 3-3.5% โดยในวันนี้หลังประชุม ครม. ท่านพิชัยได้รายงานความคืบหน้าจากการหารือกับ ก.คลัง สภาพัฒน์ ธปท. สำนักงบประมาณ และ กพร. โดยแบ่งแผนงานดังนี้ค่ะ
แผนการดำเนินงานระยะสั้น-กลาง
1.เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ กองทุนต่างๆ ซึ่งมีเงินค้างอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท
2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ และผันเม็ดเงินไปสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
3.เร่งการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนผ่าน BOI ซึ่งในปี 2567 มีการยื่นขอสนับสนุนราว 1.14 ล้านล้านบาท โดยเราจะช่วยดูแลอำนวยความสะดวกเรื่อง Ease of Doing Business โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตต่างๆ
4.เร่งปิดดีลการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ระบบน้ำ เพื่อสอดรับกับความต้องการทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค รวมถึงโครงการ Land Bridge รถไฟเชื่อมต่อกับจีน ขยายสนามบินและท่าเรือ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง ตามนโยบาย Ignite Thailand
5.กระตุ้นการส่งออก เช่น การเปิดตลาดใหม่ เร่งเจรจากับประเทศคู่ค้า ลดคอขวดด้านพิธีการส่งออก โดยดิฉันขอให้ดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรควบคู่ไปด้วย
6.ด้านการท่องเที่ยว เน้นการจัดงาน/เทศกาล เพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวและทำให้ระยะเวลาในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว อยู่ในประเทศนานขึ้น
สำหรับแผนระยะกลาง-ยาว เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
1.เริ่มปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบ Sandbox โดยยึดความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนไป และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมเดิม
2.ปรับโครงสร้างด้านราคาพลังงาน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เช่น นโยบาย Direct PPA และ UGT เพื่อตอบโจทย์มาตรฐานการค้าการลงทุนปัจจุบัน
3.เร่งปฏิรูปด้านเกษตรแบบ Sandbox โดยใช้ตลาดนำ เริ่มจากสินค้าเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เน้นเรื่องความสมดุลอุปสงค์-อุปทาน พัฒนาปัจจัยทุน ได้แก่ ดิน เมล็ดพันธุ์ น้ำ และเพิ่มผลิตภาพ ทั้งหมดนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
โอกาสต่อไป คณะทำงานจะหารือเพิ่มกับภาคเอกชนผ่าน กกร. และจัดทำเป็นแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 2 สัปดาห์ค่ะ”