พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม-อดีตผู้บังคับการตำรวจภูมิธรจังหวัดบุรีรัมย์ นำ 10 สว. ลงชื่อ ชง ญัตติเข้าที่ประชุมวุฒิสภา 4 มีนาคม 68 อภิปรายกระบวนการยุติธรรม-การบังคับใช้กฎหมาย มีการแทรกแซงและครอบงำจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม-กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขาดประสิทธิภาพ-ล่าช้า กระบวนการยุติธรรมไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ ผู้ต้องขังบางคนได้รับสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่พิเศษกว่าผู้ต้องขังคนอื่น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า การประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 4 มีนาคม 2568 นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้บรรจุระเบียบวาระ เรื่องที่เสนอใหม่ ญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ผู้เสนอญัตติ คือ พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อดีตผู้บังคับการตำรวจภูมิธรจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี สว.เป็นผู้รับรองญัตติ จำนวน 10 คน ซึ่งจะเป็นการเปิดให้สมาชิกวุฒิสภาอภิปราย โดยในเนื้อหาญัตติระบุถึงปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ยังมีฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงและครอบงำการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยรายละเอียดของญัตติระบุไว้ดังนี้
อ่านประกอบ :
- สว. ยื่น ปธ.วุฒิฯ ส่ง ป.ป.ช. ไต่สวน ทวี-อธิบดีDSI จงใจกลั่นแกล้ง คดีฮั้วเลือกสภาสูง
- ‘มงคล’ ยื่นหนังสือถึงปธ.ป.ป.ช. ฟัน ‘ทวี-อธิบดีดีเอสไอ’ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง-ผิดม.157
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใด ๆ ซึ่งจากการพิจารณาถึงกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยยังขาดประสิทธิภาพ มีความล่าช้าในการดำเนินคดี อีกทั้งยังมีการแทรกแซงและครอบงำจากฝ่ายการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
โดยเฉพาะการดำเนินคดีพิเศษ ของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DS) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน คดีความผิดทางอาญาที่มี หรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เช่น คดีการทุจริตคอร์รัปชัน คดีฟอกเงิน คดียาเสพติด คดีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การลงทุน การกระทำความผิดข้ามชาติ คดีลักลอบเข้าเมือง เป็นต้น
โดยในการดำเนินคดีพิเศษที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมที่ยังขาดประสิทธิภาพ มีการดำเนินคดีที่ล่าช้า ไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และประชาชนได้ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมว่า กระบวนการยุติธรรมไม่อาจเป็นที่พึ่งได้
อาทิเช่น การดำเนินคดีกับนายทุนชาวจีนสีเทาในข้อหายาเสพติด ฟอกเงิน และการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นปัญหาที่สำคัญ และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การสืบสวนสอบสวน คดีความผิดดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยความท้าทาย ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าหน้าที่สืบสวนและพนักงานสอบสวนมืออาชีพ เพื่อให้การรรวบรวมพยานหลักฐานมีความถูกต้องครบถ้วน และสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในการดำเนินกระบวนยุติธรรมยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่นกรณีการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังในการได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการที่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยผู้ต้องขังบางคนได้รับสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่พิเศษกว่าผู้ต้องขังคนอื่นอื่น จึงสมควรที่วุฒิสภาจะได้มีการอภิปรายระดมความคิดเห็นเพื่อพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย และเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอเสนอญัตติตามนัยแห่งข้อบังคับการประชุม วุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 35 เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาญัตติดังกล่าว และมีมติส่งข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับเหตุผลและรายละเอียดเพิ่มเติมจะได้ชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า มี สว.เป็นผู้รับรองญัตติ 10 คน ประกอบด้วย 1.นางสาว อมร ศรีบุญนาค 2.นายเอนก วีระพจนานันท์ 3.นางสาว อัจฉรพรรณ หอมรส 4.นายอภิชา เศรษฐวราธร 5.นายชวภณ วัธนเวคิน 6.นายชีวะภาพ ชีวะธรรม 7.นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว 8.พลเอก สวัสดิ์ ทัศนา 9.นายพรเพิ่ม ทองศรี และ 10.นายอภิชาติ งามกมล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :