ACT ทำจดหมายเปิดผนึกยื่นถึง อสส.ขอให้ใช้สิทธิสั่งอุทธรณ์คำตัดสินศาล ลงโทษหนักขึ้น-ไม่ควรรอลงอาญา คดีอดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลฯ-สุรินทร์ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลคดีทุจริต 26 โครงการมูลค่ารวม 81 ล้าน จนศาลมีคำพิพากษาช่วง ก.ย.67จี้ควรใช้มาตรฐานเดียวกับ ‘พิรงรอง’ เพื่อไม่ให้สังคมสับสนกระบวนการยุติธรรม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 28 ก.พ. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ได้ทำเอกสารข่าวแจกระบุว่านายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากกรณีอดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุรินทร์ ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติจากการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง 26 โครงการ มูลค่ากว่า 81 ล้านบาท ในห้วงปี พ.ศ. 2554-2557 จนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาเมื่อ 24 ก.ย. 2567 ตัดสินให้จำคุก 130 ปี 78 เดือน ปรับ 2,652,000 บาท จำเลยรับสารภาพได้รับการลดโทษคงเหลือ จำคุก 50 ปี ปรับ 1,326,000 บาท สุดท้ายศาลให้ “รอลงอาญา 5 ปี” นั้น
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า จำเลยคดีนี้เป็นข้าราชการแต่กลับใช้อำนาจหน้าที่กระทำการทุจริตเป็นเครือข่ายอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเกิดความเสียหายต่อรัฐจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน ที่สำคัญ ยังทำลายความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนต่อภาครัฐ พฤติกรรมโดยรวมของคดีตามที่ปรากฏจึงไม่สมควรรอลงอาญา สอดคล้องตามหลักสากลที่ถือว่าคดีคอร์รัปชันเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ต้องลงโทษหนักและไม่มีการรอลงอาญา
ไม่เพียงเท่านั้น ต่อคำตัดสินคดีนี้ หากนำมาเปรียบเทียบกับคดีของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกทรูไอดีฟ้องร้อง ถึงแม้ฐานคดีจะต่างกัน แต่ศ.กิตติคุณพิรงรองผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. เพื่อปกป้องสิทธิประชาชน กลับถูกลงโทษให้จำคุกโดยไม่มีการรอลงอาญา ยิ่งทำให้สังคมสับสนในกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติรัฐของประเทศ
“คอร์รัปชันในภาครัฐเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศ แต่การจับกุมเอาคนโกงชาติมาลงโทษเป็นเรื่องยากเย็น ต้องสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรของรัฐอย่างมาก เพราะหลายคดีใช้เวลานับสิบๆ ปีจึงทำให้คนผิดส่วนใหญ่ยังลอยนวลอย่างย่ามใจ แต่ประชาชนหดหู่สิ้นหวังว่าประเทศไม่พัฒนาเพราะคนโกงครองเมือง” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯกล่าวและว่า
ในบทบาทขององค์กรภาคประชาชน จึงขอเสนอความเห็นต่ออัยการสูงสุดโปรดพิจารณาใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งดุลยพินิจในการกำหนดโทษของศาลในคดีนี้โดยขอให้ลงโทษหนักขึ้นและไม่รอลงอาญา เพื่อให้เกิดการสร้างมาตรฐานการลงโทษคดีทุจริตที่สังคมยอมรับ
อ่านประกอบ :
- ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตพณ.อุบลฯ-สุรินทร์ คดีร่ำรวยผิดปกติ 81 ล.-โดนไล่ออกราชการแล้ว
- เปิดหมด! ทรัพย์สิน 81 ล. อดีตพณ.อุบลฯ โดนชี้มูลคดีร่ำรวยผิดปกติ ขอศาลยึดเป็นของแผ่นดิน
- จากอุบลฯ ถึงสุรินทร์! เปิดพฤติการณ์ทุจริต 'อดีตพณ.จว.' ก่อนโดนชี้มูลคดีร่ำรวย 81 ล.
- เบื้องหลัง 'อิศรา' เจาะข่าว คดีทุจริต 'อดีตพณ.อุบล' เอื้อปย.เครือข่ายเอกชนจัดอีเวนต์ร้อยล.
- เปิดชัดๆ ข้อมูลรอลงอาญาคุกร้อยปี สารภาพเหลือ 50 คดีทุจริตพาณิชย์อุบลฯ-เมีย 2 คน รอดด้วย