ศาลยกคำร้องหลังมูลนิธิผสานวัฒนธรรมยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินนายกฯ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้าง ตร.ส่งตัวชาวอุยกูร์ 48 คน กลับไปประเทศจีน ชี้ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามกฎหมาย-ด้าน ผบ.ตร.ยืนยันกระบวนการส่งตัวกลับเป็นไปตามหลักสากล วอนเข้าใจตำรวจทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2568 น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้ไต่สวนฉุกเฉิน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหาย เนื่องจากอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์ จำนวน 48 คน กลับไปยังประเทศจีน ผ่านทางเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง
น.ส.พรเพ็ญ เปิดเผยว่า ตนเป็นผู้แทนของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมายื่นคำร้องขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน กรณีที่มีผู้อ้างว่าพบเห็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) นำรถบรรทุกผู้ต้องขังโดยใช้เทปดำปิดทึบ ซึ่งไม่รู้ว่ากลุ่มคนที่อยู่ในขบวนรถดังกล่าวเป็นใครบ้างและจะนำตัวไปที่ใด
ดังนั้นในฐานะประชาสังคมและทนายความ พบว่า สามารถร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการอุ้มหาย มาตรา 26 และจะสามารถเรียกผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติการ ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการนำบุคคลเหล่านี้ออกนอกประเทศ
ตอนนี้ทราบว่ามีหลายภาคส่วนกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ จึงคาดหวังบทบาทของฝ่ายตุลาการว่าศาลจะสามารถเข้ามาเยียวยาและให้ความเป็นธรรมเรื่องนี้ได้
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า ในการมายื่นคำร้องในครั้งนี้เพื่อให้ศาลช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากรณีนี้ใช่กลุ่มชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปจีนใช่หรือไม่ เนื่องจากตอนนี้ทุกคนอยู่ในความสับสน เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่อธิบายให้ทราบได้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตอนนี้มีกฎหมายออกมารองรับแล้วว่าถ้าพบเห็นเหตุการณ์ในลักษณะนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ได้ แต่ที่เข้ามายื่นกับทางศาลอาญารัชดา เพราะว่าที่นี่มีอำนาจครอบคลุมทั่วประเทศ
"ขณะนี้ประชาชนทั่วไปก็ยังไม่ทราบว่าขบวนรถบรรทุกดังกล่าวไปยังที่ใด หรือว่าขึ้นเครื่องบินไปตามที่ข่าวเผยแพร่ไปแล้ว ตนอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ชี้แจงต่อศาล แต่หากศาลอาญายกคำร้องยืนยันว่าจะมายื่นใหม่ในวันถัดไป หรือมายื่นทุกวันจนกว่าศาลจะไต่สวนอย่างแน่นอน" น.ส.พรเพ็ญ กล่าว
เมื่อถามว่า ขบวนรถดังกล่าวเดินทางออกจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือไม่
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า ขบวนรถผู้ต้องขังเดินทางออกจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) และมีความน่าสงสัยในส่วนที่เอ็นจีโอ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ติดตามเรื่องนี้อยู่กลับถูกเจ้าหน้าที่กีดกันไม่ให้ขับรถตามไป หรือการติดต่อไปสอบถามยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก้ไม่ได้รับคำตอบใดๆ หรือว่าไม่รับสายโทรศัพท์ มีบางส่วนอ้างว่าเป็นคำสั่งทางการเมืองด้วยซ้ำ เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเช่นนี้ตนจึงเกรงว่ากลุ่มคนในขบวนรถดังกล่าวที่สงสัยว่าจะเป็นชาวอุยกูร์จะถูกส่งกลับไปยังประเทศจีน และมีความเสี่ยงที่อาจจะมีการปฏิบัติต่อคนกลุ่มนั้นอย่างไร้มนุษยธรรม
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า การควบคุมกลุ่มชาวอุยกูร์ตอนนี้ เรียกว่าการควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิด พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหายฉบับนี้ พบว่า เคยมีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวตาม มาตรา 90 ที่พูดถึงการไต่สวนให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่ชอบตามกฎหมาย เรื่องนี้ยังอยู่ในการควบคุมของศาลกรุงเทพใต้ จึงค่อนข้างประหลาดใจว่า ตอนนี้เราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทำไมตนรู้สึกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนกับเหตุการณ์ส่งกลับชาวอุยกูร์ เมื่อปี 2558 ซึ่งตอนนั้นการตรวจสอบต่างๆ เป็นไปได้ยากลำบาก ตนคิดว่า การบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลทั้งหมดที่สงสัยว่าโดนควบคุมตัวไปนั้นเมื่อคืนนี้เป็นใครกันแน่
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวถึงช่วงเวลาที่ชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าว เดินทางเข้ามาประเทศไทย คาดว่า ชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าวน่าจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อช่วงปี 2557 และเคยส่งชาวอุยกูร์กลับไปประเทศจีนแล้ว 2 ครั้ง สมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยชาวอุยกูร์ที่เข้ามานั้นก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่หลักในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ หากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถพาชาวอุยกร์ไป เมื่อวานนี้จริง ตนถือว่าคุณละเมิด พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหาย เชื่อว่า ผู้ที่ทำเช่นนั้นไม่สามารถปฏิเสธการกระทำของตนเองได้ด้วย ตนขอพูดผ่านสื่อมวลชนไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวว่า สามารถเข้ามาร้องเรียนและเปิดเผยข้อเท็จจริงเพื่อเป็นการคุ้มครองและป้องกันการละเมิดสิทธิได้
ทั้งนี้ ศาลอาญาได้รับคำร้องไว้เป็นคดีดำ ปท.1/2568 เพื่อพิจารณาหรือไม่ต่อไป ล่าสุดศาลพิจารณาแล้วให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าบุคคลที่เป็นผู้ร้องไม่ได้เป็นบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการกระทำแทนผู้เสียหาย ตามมาตรา 26 พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ขณะที่ น.ส.พรเพ็ญกล่าวยืนยันว่า หลังจากนี้จะยื่นอุทธรณ์คำร้อง
โดยศาลอาญา พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จะต้องเป็นบุคคลตามมาตรา 26 (1) ถึง (6) ส่วนบุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 (1) ถึง (5) โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเพียงแต่ได้รับจดแจ้งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนโดยไม่ปรากฎว่ามีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนผู้เสียหายแต่อย่างใด ทั้งวัตถุประสงค์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมุ่งเน้นการปฏิบัติและความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงไม่ใช่บุคคลตามที่ระบุไว้หรือมีคุณสมบัติ เช่นเดียวกับบุคคลที่ระบุไว้ตามบทบัญญัติดังกล่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรมโดยผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเพิ่มเติมว่าต่อมาในช่วงบ่ายวันที่ 27 ก.พ.เช่นเดียวกัน ทางด้านของ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่เครือข่าย NGO นำเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยื่นขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน กรณีนี้ว่าส่วนตัว ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีหนังสือเป็นทางการจากรัฐบาลจีนมารัฐบาลไทย โดยยืนยันว่าชาวอุยกูร์ทั้งหมดที่ส่งกลับมีทั้งหมด 40 คน ส่วนอีก 8 คน เป็นชาวจีนที่ทำผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งชาวอุยกูร์ 40 คน ถูกจับกุมเมื่อ 11 ปีที่แล้ว และมีการควบคุมตัวอยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาโดยตลอด
โดยทางการจีนได้ทำหนังสือแสดงความจริงใจและเจตจำนงว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับทั้งหมดจะได้รับความปลอดภัย โดยมีคณะกรรมการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบ.ตร. ไปกำกับดูแล ซึ่งขณะนี้ชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน ได้เดินทางถึงประเทศจีนแล้ว ซึ่งทั้งหมดได้รับการตรวจสุขภาพและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งทางการจีนรับปากทั้งเรื่องความปลอดภัย ที่อยู่ และให้ญาติมารอรับที่มณฑลซินเจียง โดยหลังจากนี้ก็จะมีวงรอบในการตรวจสอบความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ทั้งหมดเพื่อความมั่นใจ
เมื่อถามว่ากระบวนการส่งต่อชาวอุยกูร์ออกจาก ตม.สวนพลู ทำไมถึงต้องปิดทึบรอบคันรถและมีการปิดบังโลโก้ รวมถึงยานพาหนะที่ใช้ซึ่งไม่ใช่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ขบวนการทั้งหมดเป็นเทคนิคและยุทธวิธีเพื่อความปลอดภัย ความเรียบร้อย รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เห็นได้ว่าขบวนการทั้งหมดทำให้ชาวอุยกรู์ปลอดภัยและถึงปลายทางอย่างปลอดภัย รวมถึงการส่งตัวในช่วงกลางดึกเพื่อไม่ให้กระทบกับการจราจรของประชาชนและสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ถึงแม้ว่าชาวอุยกรู์ที่อยู่กับเรามานานกว่า 10 ปี แต่ก็เป็นภาระที่เราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแล
เมื่อถามว่างานขนย้ายชาวอุยกูร์จะสร้างผลกระทบและความโกรธแค้นเหมือนในอดีตกับประเทศไทยหรือไม่
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานความมั่นคง มีมาตรการในการตั้งรับ ดูแลประชาชน สถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อความไม่ประมาทและไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ยืนยันว่าการขนย้ายชาวอุยกูร์เป็นไปได้ด้วยดี ไม่มีการบังคับหรือขัดขืน โดยมีตำรวจขึ้นไปกำกับดูแลความเรียบร้อยบนรถทุกคันเพื่อความเหมาะสม นอกจากนี้อยากขอความเห็นใจให้ตำรวจ หากกักตัวต่อไปก็จะเกิดกระแสเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่พอปล่อยตัวกลับไปก็จะถูกตำหนิว่าทำถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่
"ดังนั้นขอให้เข้าใจตำรวจด้วยว่าเรารักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ การส่งตัวผู้กระทำผิดหลบหนีเข้าเมือง ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่เราส่งไป ทำไมเวลาเราจับคนต่างชาติ และเราส่งกลับล่ะ ชาวอุยกูร์ ผมว่าก็ไม่ต่างกัน ยังไงก็ต้องส่งกลับ เราจะต้องกักเขาไว้ในระยะเวลาอีกกี่ปี 10-11-12-13 ปีเหรอ เขาก็เป็นมนุษย์ เขาควรจะได้กลับบ้านไงครับ" ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือเสนอแนะไปยังรัฐบาลมาโดยตลอดเกี่ยวกับเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์ให้ทางการจีนตามคำร้องขอ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะแถลงข่าวถึงรายละเอียดเรื่องนี้กับสื่อมวลชน
เมื่อถามว่าที่สหรัฐอเมริกาประท้วงเรื่องการส่งกลับชาวอุยกูร์ ส่งผลกระทบถึงการจัดลำดับเทียร์ค้ามนุษย์ของไทยหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราคำนึงถึงทุกเรื่อง โดยมีการหารือกับทุกฝ่ายในเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบ และเป็นไปตามหลักสากล