มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นำ คณะ สว. กว่า 20 คน แถลงข่าว ตอบโต้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวหา เป็นอั้งยี่-ซ่องโจร ชี้ ไม่มีอำนาจ รับคดีเลือกตั้ง สว. เป็นคดีพิเศษ - ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ เตรียม นั่งหัวโต๊ะ ถกวาระลับ พิจารณา คดีฮั้วเลือกตั้ง สว. เป็นคดีพิเศษหรือไม่ 25 ก.พ.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่โรงแรมสวนสนปดิพัทธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประมาณ 20 คน อาทิ พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร พันตำรวจเอก กอบ อัจนากิตติ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร รวมกันแถลงข่าวกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคำร้องการเลือกตั้ง สว.ปี 2567 สรุปใจความได้ว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจ และหากทำให้วุฒิสภาเกิดความเสียหายจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด
@ ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา-ไม่ฝักใฝ่ผู้หนึ่งผู้ใด
นายมงคลกล่าวว่า ภายหลังได้รับทราบข่าวว่า ดีเอสไอ จะเสนอให้คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องการตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก พ.ศ.2567 ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะอำนาจในการสอบสวนและตรวจสอบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งรับเรื่องและตรวจสอบ ติดตาม สอบสวนอยู่ตลอดไว้แล้ว
“พวกเราเข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามระเบียบที่กกต.กำหนดไว้ และได้ทำหน้าที่สว.อย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ฝักใฝ่ หรือไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับผู้หนึ่งผู้ใด”
“กกต.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว แต่เหตุใดหน่วยงานซึ่งไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อยู่ดีๆ ก็เข้ามาให้ข่าว มาออกข่าว ผมเองซึ่งเป็นประธานวุฒิสภา ถือว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องออกมาปกป้องสิทธิ ศักดิ์ศรีของวุฒิสมาชิก”นายมงคลกล่าว
นายมงคลกล่าวว่า สว.จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป หากว่า เข้าข้อกฎหมายเรื่องใด หรือมีความผิดปกติในข้อกฎหมายเรื่องใด หรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด หรือบุคคลใดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อ สว. เราจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
@ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจ
พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้ตรวจสอบในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว. ปี 67 เราได้มาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยซึ่งการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.พิจารณา ซึ่งจากข่าวของสื่อมวลชนที่เราได้มาทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสว.
พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษกล่าวว่า อยากจะแจ้งกับสื่อมวลชนให้ทราบว่า การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ต้องดำเนินการอยู่ในขอบเขตของอำนาจและหน้าที่ ตราบใดที่หน่วยงานหลักตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ฯ ยังไม่ได้มอบอำนาจ จะมาพูดในลักษณะที่ทำให้ สว.โดยรวม เกิดความไม่เชื่อมั่น และขอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องที่รับเรื่องร้องเรียนไปดำเนินการขอให้อยู่ในอำนาจหน้าที่
“จากการเสนอข่าวของสื่อมวลชนในการให้สัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในลักษณะที่ทำให้วุฒิสภาเกิดความเสื่อมเสีย หรือเกิดความเข้าใจผิดในสังคมได้”
พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษกล่าวว่า วุฒิสมาชิกทุกคนได้มาโดยสุจริตและโปร่งใส ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในความผิดที่กล่าวหาพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรข้ามชาติ อั้งยี่ ซ่องโจร เป็นการให้ข่าวที่เกินเลยความจริง
@ ข้อกล่าวหาอั้งยี่ เกินเลยข้อเท็จจริง
ขณะที่ พันตำรวจเอก กอบ กล่าวว่า การจะปฏิบัติตามกฎหมายจะต้องมีหน้าที่และอำนาจ การได้มาซึ่งสว.ครั้งนี้ เราได้มาโดยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาโดยกระบวนการหรือสมาคม หรือกระทำการเป็นอั้งยี่แต่อย่างใด เป็นการกล่าวหาที่เกินเลยกว่าข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมาย
“ผู้ใดก็ตามที่ใส่ความว่า สว.ที่ได้มาครั้งนี้ ได้มาโดยไม่มีความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เข้าเป็นสมาคมอั้งยี่ เป็นการใส่ความให้เกิดความเสียหายและบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติ ผู้กระทำการต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำที่ตัวเองได้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นเอกชน หน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารบ้านเมืองก็ดี ต้องรับผิดชอบในการกระทำที่ตัวเองกระทำไป”
พันตำรวจเอก กอบ กล่าวว่า ประการสำคัญที่ตนอยากจะบอก ขณะนี้มีกระบวนการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยวิธีการฉ้อฉลและบิดเบือนอำนาจ มีการทุจริตในวงกว้าง กระบวนการนี้สังเกตเห็นได้ชัดพยายามจะแก้ตรงนี้ เพื่อให้มีวงวนกลับเข้ามาสู่เป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนเกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ใครก็ตามที่บังอาจบิดเบือน ฉ้อฉล ต้องรับผิดชอบ
@ โยงกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ
ส่วนจะเป็นกลเกมทางการเมืองหรือไม่นั้น พันตำรวจ กอบกล่าวว่า การกล่าวอ้างกฎหมายอาญามาใช้โดยมิชอบ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อสร้างปัญหาให้กับการเมืองการปกครองของบ้านเมือง เพื่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ
“การใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 มาอ้างว่า กลุ่มที่สมัคร สว. ซึ่งได้รับการรับรองจากกกต.แล้ว ไปยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เพื่อให้มีการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ใช่ สว. แต่เป็นผู้กล่าวหาและเอาเรื่องไปที่ดีเอสไอ พวกนี้ต่างหากที่พยายามสั่นคลอนความมั่นคงอำนาจ 3 เสาหลัก คือ อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยให้อำนาจอิสระในการตรวจสอบและถ่วงดุล 3 อำนาจ การที่ดีเอสไอ หรือ ท่านรัฐมนตรีก็ดี มากล่าวอ้างโดยใช้หลักกฎหมายตรงนี้ เป้นการบิดเบือนและฉ้อฉลอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น เพราะกำลังมีปัญหารอบด้าน ปัญหาของคณะรัฐมนตรีมีมากมาย ทำไมไม่ไปทำ มาสั่นคลอนกระบวนการนิติบัญญัติใช่หรือไม่”
พลเอก เกรียงไกร กล่าวย้ำว่า ประเด็นนี้เป็นปมที่โยงยึดอยู่กับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา ความพยายามดังกล่าวไม่ปกติ จากนี้ไปจะมีสว.จำนวนหนึ่ง ถือโอกาสใช้กระบวนการยุติธรรมในการกล่าวทุกข์ดำเนินคดี และ สว.จะลงชื่อร่วมกันในการอภิปรายผู้บริหารที่เกี่ยวข้องต่อไป
@ ภูมิธรรม หัวโต๊ะ คกก.คดีพิเศษ ถกวาระลับ
ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า คดีร้องเรียนการเลือกตั้ง สว.ปี 67 ดีเอสไอ ยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ อย่างไรก็ตามในวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ โดยมีวาระลับ เพื่อเพิจารณาคดีดังกล่าวว่าจะรับหรือไม่รับเป็นคดีพิเศษ
อ่านข่าที่เกี่ยวข้องประกอบ :